วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กอร์โดบา........ด้วยแรงแห่งศรัทธา (The Force of Faith) Gordoba, Spain


       วันนี้เราจะออกเดินทางท่องแคว้นอันดาลูเซียกันแล้วครับ ตอนไปรับรถเช่าเริ่มรู้สึกหงุดหงิดกันนิดหน่อย เพราะในสำนักงานไม่มีคนพูดภาษาอังกฤษได้เลย ต้องใช้ภาษาใบ้กันยืดยาวกว่าจะรู้เรื่อง ในคณะของเรามีพี่คนหนึ่งที่พอจะขับรถเลนขวาได้ เราเลยพร้อมใจกันยกตำแหน่งสารถีให้พี่เขาไป อุปกรณ์นำทางหรือ'ทอม ทอม'ต้องจ่ายเงินเพิ่มต่างหาก ส่วนเสียงบรรยายเป็นเสียงผู้หญิงวัยค่อนไปทางกลางคนหน่อย ๆ พวกเราเลยขนานนามเธอใหม่ว่า "คุณแม่" นับต่อจากนี้ไปอีก 4-5 วันเธอจะมีอิทธิพลกับเราพอสมควรครับ เพราะจะเป็นคนคอยบงการให้ซ้ายหันขวาหันตามแต่ใจเธอปรารถนา
       ออกจากเซบีญ่าบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยในตอนแรกคุณแม่คอยกำกับบอกทางให้อย่างแข็งขัน พอจะถึงทุกแยกทุกเลี้ยวเธอเป็นต้องกำชับแน่นหนา ให้พวกเราเตรียมตัวอยู่ทุกระยะ แต่พอเป็นทางตรงยาวเธอก็เล่นเงียบเสียงไปเสี้ยดื้อ ๆ จะเพราะด้วยความเหนื่อยหรืออย่างไรไม่ทราบครับ เมื่อเห็นเธอเงียบไปนานเข้าก็เลยต้องเคาะดูเสียหน่อย เรื่องของเรื่องคือกลัวคุณแม่แอบงีบหลับแล้วปล่อยให้พวกเราหลงยังไงหล่ะครับ

ช่องเขาบนป้อม มองออกไปเห็นที่ราบแห้งแล้งกว้างใหญ่

ลักษณะบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนไหล่เขา ล้อมรอบด้วยที่ราบสูง ภาพนี้ถ่ายจากเมืองเล็ก ๆ ที่พวกเราแวะพักทานอาหารกลางวันกันครับ

       เราแวะทานอาหารกลางวันกันที่เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง บ้านเมืองในสเปนกระจุกรวมกันอยู่บนเนินสูง ห้อมล้อมกำแพงและป้อมปราการแน่นหนา นอกเขตเมืองไปก็เป็นที่ราบแห้งแล้งกว้างใหญ่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าความเป็นอยู่ในสมัยโบราณคงจะลำบากกันมาก การจะเดินทางไปต่างเมืองแต่ละทีเป็นต้องตระเตรียมอาหารและน้ำดื่มไปให้เพียงพอ ไม่งั้นอาจจะต้องอดตายกันกลางทางเอาได้ง่าย ๆ
       มื้อนี้เป็นมื้อแรกในสเปนที่รู้สึกว่าอาหารอร่อยครับ จะว่าเป็นอาหารสเปนก็ไม่เชิงนัก เพราะดูจากหน้าตากระเดียดไปทางอาหรับเสียมากกว่า ลักษณะเป็นแป้งโรตีแผ่นบาง ๆ ห่อเนื้อสัตว์และผักแล้วราดด้วยน้ำจิ้มตามแต่จะเลือก ใช้ทานแนมกับพริกและแตงกวาในน้ำส้มสายชูเพื่อแก้เลี่ยน สอบถามได้ความว่าคือทาปาสของว่างอันขึ้นชื่อของเค้านั่นเองครับ ส่วนแตงกวากับพริกดองนั่นถามเขาว่าเรียกว่าอะไร พี่แกก็ตอบว่าคือ'อาจาด' เรียกเหมือนกันกับบ้านเราไม่ผิดเพี้ยนเลยหล่ะครับ

ถนนรอบเมซกิตาสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบและสวยงาม

       เป็นอันว่าเสียงคุณแม่จะเอะอะเป็นพิเศษก็ตอนวิ่งเข้าเขตเมืองครับ พอออกนอกเขตไปแล้วเสียงเธอก็ซาลง เมื่อใกล้ถึงกอร์โดบาเธอจึงรีบกุลีกุจอบอกทางอีกครั้งให้พวกเราก็ขับไปตามนั้น มารู้สึกเฉลียวใจกันก็อีตอนขับรถวนกลับมาที่เดิมนั่นแหล่ะครับ แล้วเธอก็ให้เลี้ยววกเข้าไปใหม่ เป็นอยู่อย่างนี้ 2-3 รอบ เมื่อเห็นทีไม่ได้การเลยจัดการปิดปากหล่อนเสีย ก่อนที่จะมีน้ำโหไปมากกว่านี้ แล้วก็ไม่มีอะไรแน่นอนไปกว่าระบบเดิม นั่นคือการถามทางเอาจากชาวบ้านละแวกนั้นอีกแล้วหล่ะครับ
       ที่พักของเราวันนี้อยู่ติดกับมหาวิหารประจำเมืองหรือเมซกิตา(Mezquita) คำนี้ในภาษาสเปนแปลว่า มัสยิสถ์ ซึ่งเรียกตามลักษณะอาคารที่แต่เดิมเป็นศาสนสถานในศาสนาอิสลามมาก่อน วันนี้กว่าจะถึงที่พักได้ก็ค่ำมาก เลยยกยอดไว้เที่ยวชมเมืองในวันรุ่งขึ้นแบบรวดเดียวจบเลยนะครับ

ประตูไม้บานใหญ่หน้าเมซกิตาซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องแสงในตัว โดดเด่นด้วยลวดลายรูปดาวและเลขาคณิต

       เช้าวันรุ่งขึ้นเราไปยืนออกันอยู่ตรงประตูทางเข้าตั้งแต่เขายังไม่ทันเปิด พอมีคนมาเปิดให้ปุ๊บพวกพี่ ๆ ก็พากันกรูเข้าไป ว่าพลางดีอกดีใจกันใหญ่ว่าที่นี่เขาให้เข้าชมฟรีไม่มีเสียตังค์ เมซกิตาแห่งนี้ยังคงลักษณะทางสถาปัตยกรรมเดิม ซึ่งเป็นแบบศาสนาอิสลามเอาไว้ได้เป็นอย่างดีเลยครับ ข้างในเป็นลานกว้างใหญ่ เรียงรายไปด้วยเสาหินอ่อนนับพัน ที่รองรับซุ้มโค้งรูปเกือกม้าสีแดงขาวถึงสองชั้น วัตถุดิบที่ใช้ทำเสานำมาจากซากเดิมของพวกโรมันและวิสิกอธส์ ผู้ซึ่งเคยครองดินแดนแถบนี้มาก่อน แต่สิ่งที่น่าทึ่งคือจำนวนและลวดลายของหัวเสาแต่ละต้น ที่ทั้งสวยงามและหลากหลายมาก ๆ เลยหล่ะครับ

ทุ่งเสาหินนับพันในเมซกิตา

หลังคาโดมทรงฟักทอง ศิลปอิสลามชั้นหนึ่งในแผ่นดินสเปน

ลักษณะขื่อคานตามรูปแบบเดิมที่ยังไม่ถูกรื้อหรือแก้ไขดัดแปลง

       ตรงกลางของสุเหร่ามีการสร้างโบสถ์คริสต์คร่อมทับลงไปดูขัดตา และที่มุมอับด้านลึกสุดก็มีร่องรอยของความพยายามที่โง่เขลา ในการที่จะรื้อโครงสร้างเดิมออกแล้วทำใหม่เข้าไปแทนในแบบคริสต์ ซึ่งก็คงจะมีการวิพากย์วิจารย์กันมากทีเดียวนะครับในสมัยนั้น โครงการนี้เลยเป็นอันต้องพับไปเสียก่อน น่าเสียดายของเดิมที่ถูกรื้อทิ้งไป แล้วถูกแทนที่ด้วยของใหม่ซึ่งด้อยค่ากว่ามาก พอถึงตอนนี้จะทำให้กลับไปเป็นอย่างเดิมก็ไม่ได้อีกแล้ว

หลังคาส่วนนี้ถูกรื้อและพยายามทำใหม่ในแบบตะวันตกแต่ไม่สำเร็จ สภาพเลยครึ่ง ๆ กลาง ๆ อย่างที่เห็น

รูปเคารพพระเยซู แทรกองค์อยู่ในซุ้มโขงแบบอิสลาม

ภายในวิหารคริสที่สร้างคร่อมตรงกลางสุเหร่าเอาไว้ พอหลุดเข้ามาตรงนี้เหมือนอยู่กันคนละโลก

       ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างศาสนสถานของคริสต์และอิสลามก็คือ สุเหร่าของอิสลามไม่มีแท่นบูชาครับ จะมีก็แต่เพียงเวิ้งในผนังห้องด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศให้ทุกคนหันหน้าไปทางนครเมกกะ ลวดลายที่ประดับตกแต่งดูวิจิตรบรรจง รูปแบบเน้นความสมมาตรและไม่ใช้รูปคนหรือสัตว์เป็นส่วนประกอบ ส่วนของทางคริสต์จะเน้นแท่นบูชาโอ่อ่าอลังการ เพดานสูงโอ่โถงและหอระฆัง เหมือนกับว่าต้องทำให้สูงที่สุดเพื่อการเข้าถึงพระเป็นเจ้า มีการใช้รูปเคารพกันอย่างเอิกเกริก ซึ่งมีทั้งเทพยดา นางฟ้า นักบุญ หรือแม้แต่สัตว์ในตำนานต่าง ๆ  หลังจากเดินชมความงามของวิหารจนทั่วแล้วพวกเราก็พากันไปเที่ยวชมเมืองกันต่อครับ


แท่นบูชาในวิหารแบบคริสต์ ที่เต็มไปด้วยรูปเคารพต่าง ๆ

       นครกอร์โดบาแห่งนี้ความเป็นมาดูท่าจะเก่าแก่กว่าเซบีญ่า ดังจะเห็นได้จากซากโบราณของพวกโรมันที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป รวมทั้งสะพานข้ามแม่น้ำซึ่งยังคงใช้การได้ดีอยู่ ก่อนยุคของโรมันที่นี่เคยถูกครองโดยกรีกและฟินิเชียน หลังจากนั้นจึงเป็นยุคของโรมัน ซึ่งก็ถูกรุกไล่ออกไปในอีกทีตอนหลัง โดยชนเผ่าป่าเถื่อนจากทางเหนือที่เรียกว่าวิสิกอธส์ หลังจากวิสิกอธส์ไปแล้วถึงจะเป็นแขกมัวร์ครับ นัยว่าแต่เดิมนั้น พวกมัวร์เหยียบย่างเข้ามายังดินแดนนี้ ก็ด้วยการชักชวนของวิสิกอธส์เอง ผู้ซึ่งเป็นฝ่ายร้องขอให้พวกเขายกทัพเข้ามา เพื่อทำการแทรกแซงในสงครามแย่งชิงบัลลังค์กันเองระหว่างเหล่าราชวงค์ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าหลังสงครามสงบ บรรดาเหล่านักรบมัวร์เกิดติดอกติดใจดินแดนแถบนี้ แล้วจึงพากันลงหลักปักฐานไม่ยอมกลับเอาเสียดื้อ ๆ สุดท้ายพวกวิสิกอธส์จึงเป็นฝ่ายพลาดท่าถูกขับไล่ออกไปแทน นับแต่นั้นชาวมัวร์จากแอฟริกาเหนือจึงพากันทยอยอพยพเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ จนอาณาจักรอิสลามของพวกเขาแผ่ขยายครอบคลุมสเปนทางตอนใต้ได้เกือบหมด
       อาจเป็นเพราะดินแดนนี้แห้งแล้งทารุณ ซึ่งยากต่อการเพาะปลูกหรือดำเนินชีวิตก็เป็นได้ครับ ในตอนแรกเลยยังไม่ค่อยมีใครสนใจให้ค่าที่นี่สักเท่าไหร่  แล้วก็ได้พวกมัวร์นี่เองที่เป็นผู้ทำนุบำรุงกอร์โดบาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เป็นเมืองหลวงของแคว้นอิสลามที่มีวัฒนธรรมยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคพื้นยุโรป

สะพานจากยุคโรมันที่ยังใช้การได้ดีอยู่จนถึงปัจจุบัน

       ด้วยความที่มีต้นกำเนิดมาจากแผ่นดินแห้งแล้งทางแอฟริกา ชาวมัวร์มีวิทยาการสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง ที่ค่อนข้างก้าวล้ำกว่าทางยุโรปมาก นั่นก็คือการทำชลประทานครับ พวกเขาสร้างระหัดวิดน้ำขนาดใหญ่เพื่อผันน้ำสู่ลำเหมือง สำหรับใช้ทำการเพาะปลูกได้กว้างไกล แม้ในแผ่นดินทุรกันดารแห้งแล้งแค่ไหน ก็สามารถพลิกฟื้นให้เขียวชอุ่มขึ้นมาได้ จนในที่สุดเมื่อสเปนและคริสเตียนเริ่มตระหนักได้ ถึงศักยภาพของดินแดนแถบนี้ จึงเกิดนึกหวงแหนและพากันรุกไล่พวกเขาไปจนพ้นดินแดนยุโรปในที่สุด
       ประวัติศาสตร์ส่วนนี้เราศึกษากันอย่างคร่าว ๆ จากพิพิธภัณธ์ท้องถิ่นขนาดเล็ก ที่เขาจัดแสดงไว้ในป้อมหรือประสาทหินเก่า ๆ แห่งหนึ่งริมแม่น้ำนั่นเอง โดยในตอนแรกเมื่อเห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กอย่างพวกเราหลงมา ตาคนเฝ้าแกก็ชักชวนให้ขึ้นไปชมข้างบน แต่พอเห็นเราทำท่าลังเลเมื่อทราบราคาตั๋ว แกก็เลยถามว่า "เป็นนักเรียนกันหรือเปล่า มีบัตรมั้ย" จังหว่ะที่กำลังตั้งท่าจะขำกันนั่นเอง พี่คนหนึ่งรีบเบรคไว้เสียก่อนแล้วตอบกลับไปว่า "มี...แต่ลืมเอามา" จะด้วยความเหงาเพราะไม่ค่อยมีคนหลงมาหรือไม่ทราบครับ แกเลยยอมขายให้ในราคาลดซึ่งถูกกว่าราคาเต็มมาก แถมยังลงทุนเป็นคนนำเที่ยวด้วยตัวเองเสียด้วยสิครับ
       ที่ริมแม่น้ำมีซากระหัดวิดน้ำที่เลิกใช้งานแล้วตั้งอยู่ เห็นว่าเป็นของเดิมหนึ่งในสี่อันที่หลงเหลือในภูมิภาคนี้ครับ รูปแบบเป็นกงล้อขนาดใหญ่ทำด้วยไม้ เหมือนที่เราเคยเห็นทั่วไปในสารคดีนั่นแหล่ะครับ เพียงแต่อันนี้จะใหญ่กว่ามาก และที่ดูแปลกตากว่าและไม่เคยเห็นที่ใดมาก่อนก็คือ ส่วนปลายของใบพัดแต่ละใบจะมีภาชนะดินเผาคล้ายไหผูกอยู่ ด้วยไหนี่เองครับที่ทำหน้าที่คอยตักและเทน้ำใส่รางรินสู่ลำเหมืองอีกที


พอมองเลยเขตเมืองออกไปจะเห็นแต่ความเวิ้งว้าง

       อากาศช่วงบ่ายในกอร์โดบาแดดร้อนทารุณกว่าที่เซบีญ่ามากเลยครับ พอเดินไปได้ซักพักก็ต้องหาที่หลบกันจ้าละหวั่น สมแล้วที่แถวนี้เขามีประเพณีพักงีบในช่วงบ่ายที่เรียกว่าเซียสต้า กล่าวคือหลังจากพักเที่ยงแล้ว ร้านรวงสำนักงานต่าง ๆ เขาก็จะปิดทำการกัน แถมยังลากยาวไปจนบ่ายสามถึงบ่ายสี่ แล้วค่อยกลับมาทำงานกันใหม่ในช่วงเย็น ล่วงเลยไปจนถึงตอนสองสามทุ่ม การทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำจนไม่มีเวลาพักผ่อนนั้น คงจะพบเห็นได้แต่เพียงแถบภูมิภาคเราเท่านั้นหล่ะครับ ทางฝั่งยุโรปหรือประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะให้ความสำคัญกับวันหยุดและเวลาพักผ่อนกันมาก ไอ้ที่จะเห็นเปิด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์นั้นบอกตามตรงว่าหายากเต็มทีครับ
       หลังจากนั้นก็พากันไปดูป้อมหรือปราสาทเก่าประจำเมือง ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่นัก ตัวอาคารออกจะเล็กและคับแคบจนทำอะไรไม่น่าสะดวก ขนาดว่าพวกเราตัวเปล่า ๆ ยังเดินชนโน่นชนนี่ไปตลอดทาง นึกไปถึงพวกทหารสมัยก่อนที่ใส่ชุดเกราะเต็มยศ เวลาเดินคงมีการชนนั่นชนนี่ดังโครมครามทั้งวันแน่
       ค่อยยังชั่วหน่อยที่ข้างประสาทมีสวนสวยให้เราได้หยุดพักผ่อน เลยพากันนั่ง ๆ นอน ๆ จ่อมอยู่ตรงนั้นไม่อยากเดินออกไปไหนอีก รอจนแดดร่มลมตกแล้วถึงค่อยพากันบ่ายหน้ากลับที่พัก แต่พอไปถึงโรงแรม ด้วยความที่ไม่มีอะไรทำผมเลยคิดว่าจะไปเที่ยวในสุเหร่าอีกรอบ กำลังเดินตัวปลิวจะเข้าไปก็ต้องหน้าแตกเพราะโดนเขาไล่ให้ไปซื้อตั๋ว อ่าวว ถ้างั้นเมื่อเช้านี้พวกเราก็พากันลักไก่เข้าไปดูของเขาฟรี ๆ หล่ะสิครับเนี่ย


ด้านข้างเมซกิตาที่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี

        เย็นนี้พวกพี่เขาพาไปดินเนอร์ร้านหรูด้วยความฝืนใจครับ ผมกับอาหารฝรั่งนั้นไม่ถูกกันอย่างที่สุด มื้อปกติทั่วไปเลยกินแต่แม็คโดนัลด์มาตลอดตั้งแต่เริ่มเหยียบที่นี่ อาหารหลักของผู้คนแถบนี้คือน้ำมันมะกอกครับ เห็นใครเขาชื่นชมนักหนาว่าดีต่อสุขภาพชั้นหนึ่ง จะอย่างไรก็ช่างเถ่อะครับเท่าที่ผมแอบสังเกตมาด้วยความลำเอียง จะเห็นมีก็แต่เด็กและวัยรุ่นเท่านั้น ที่ยังพอจะคงรูปร่างระเหิดระหงอยู่ได้ แต่พอเลยวัยมาทางกลางคนแล้วหล่ะก็ จะหาที่หุ่นดี ๆ ซักคนแทบจะไม่มี สำหรับผมแล้วน้ำมันก็คือน้ำมันครับ เอาไว้ผัดไว้ทอดให้เป็นพิธีก็พอ จะให้เอามาราด มาทา มาจิ้มกินกันแทนซ๊อสคงไม่ไหวแน่ แล้วก็เป็นไปตามคาดครับ ขนาดว่าพี่เขาพยายามสั่งอะไรที่ทานง่ายที่สุดให้ ซึ่งก็คือสเต็กที่ผมกำชับกำชาไปแน่นหนาเลยว่าขอ very well done (สุกมากถึงไหม้เลยยิ่งดี) แต่แล้วสเต็กที่ได้มา เมื่อฝานออกดูมันก็ยังแดงฉ่ำมีเลือดไหลเยิ้มออกมาอยู่ แถมยังราดน้ำมันมะกอกมาเสียชุ่มตามแบบฉบับของเขาแท้ ๆ งานนี้ผมเลยต้องทนนั่งแทะขนมปังแข็ง ๆ แกล้มไวน์เป็นเพื่อนพี่ ๆ เขาแทนครับ จะให้สั่งอะไรมาใหม่ก็ไม่เอาอีกแล้ว ราคาในเมนูเห็นแล้วแทบลมใส่ แพงก็แพงแถมไม่อร่อยอย่างนี้ไม่กินเลยจะดีกว่า

หอระฆังแบบสเปนตรงมุมกำแพงด้านหนึ่งของเมซกิตา

       คืนนี้ผมเข้านอนด้วยความกระสับกระส่าย คงด้วยฤทธิ์ไวน์ที่นั่งกรอกแทนข้าวตอนมื้อเย็นแน่ ๆ กลางดึกตกใจตื่นเพราะได้ยินเสียงคนคุยกันโหวกเหวกหน้าโรงแรมเหมือนกับมีงาน เลยลุกขึ้นมาชะโงกหน้าออกไปดู ที่แท้เขากำลังล้างถนนกันอยู่นั่นเองครับ มีรถบรรทุกน้ำมาพ่นพร้อมคนขัดคนถูตามกันมาอีกเป็นขโยง อย่างนี้นี่เองถึงว่าทำไมถนนบ้านเขาถึงได้สะอาดเอี่ยมได้ขนาดนั้น
       พวกเราอยู่ที่นี่กันแค่วันเดียวเองหล่ะครับ พรุ่งนี้ก็จะเดินทางไปกันต่อแล้ว จุดหมายต่อไปคือแกรนาดา อันเป็นที่มั่นแห่งสุดท้ายของมัวร์ในสเปน แล้วมาพิสูจน์กันนะครับกับคำกล่าวที่ว่า "แกรนาดาคือสวรรค์ของมัวร์บนพื้นพิภพ" นั้น จะเป็นคำกล่าวอ้างที่เกินจริงสักแค่ไหน
           

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เซบีญ่า....ประตูสู่โลกใหม่ (Seville....The Gate to New World) Seville, Spain


       Come fly with me let fly, let fly away. คือเสียงเพลงที่เปิดขับกล่อมบนเครื่องแอร์บัสลำเล็ก ที่นำเราทะยานขึ้นสู่เวหามุ่งหน้าสู่เมืองเซบีญ่าประเทศสเปน อันเป็นที่หมายถัดไปของพวกเรา ผมนึกชื่นชมผู้คัดเลือกบทเพลงเหลือเกิน ว่าช่างเลือกบทเพลงมาได้เหมาะเจาะ เพราะท่วงทำนองสูง ๆ ต่ำ ๆ ในเนื้อนั้น เหมือนจะขับกล่อมให้เราอินไปกับการขโยกเขย่าของเครื่อง อันเกิดจากการตกหลุมอากาศได้เป็นอย่างดี ชั่วระยะเวลาแค่เพียง 2 ชั่วโมงกว่า ๆ จากอิตาลีถึงสเปน จึงช่างดูเหมือนยาวนานจนชั่วกัปป์สำหรับใครบางคน ด้วยที่นั่งที่คับแคบชนิดที่ว่าฝรั่งหลายคนต้องนั่งชันเข่า ผนวกกับสภาพลมแปรปรวณ และแอร์โฮสเตสที่สวยแต่หน้าดุจนเราหงอเหล่านี้เป็นต้น เมื่อนำมาประกอบกันพิจารณาเข้า ก็สมแล้วหล่ะครับที่สายการบินแอร์เอเชียของเรา จะได้รางวัลสายการบินโลว์คอสต์ยอดเยี่ยมระดับโลก แถมยังได้ยินว่าครองแชมป์มาหลายสมัยเสียด้วยสิครับ(ถ้าหากจำไม่ผิด)
       แล้วเครื่องก็พาเราลงแตะรันเวย์ด้วยความโล่งอก อ้อ! ผมลืมเล่าไปอีกเรื่องหนึ่ง คือตอนสาธิตวิธีการใช้ชูชีพ(ที่ไม่น่าจะมีโอกาสได้ใช้)นั้น ฉับพลันที่แอร์ฯสาวจบการสาธิต ผู้โดยสารเกือบทั้งลำก็พร้อมใจกันปรบมือเป่าปากกันเกรียวกราวเชียวแหล่ะครับ แค่ยังไม่ทันเข้าประเทศ ก็เริ่มจะเห็นเค้าโครงนิสัยใจคอของคนสเปนแล้วหล่ะครับ ว่าขี้เล่นและผ่อนคลายกว่าชาวอิตาเลียนมาก
       สนามบินเซบีญ่านั้นเล็กพอ ๆ กับสนามบินเชียงใหม่ แต่ว่าผู้โดยสารค่อนข้างหนาตากว่าด้วยความที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก พอรับกระเป๋าเสร็จก็พากันไปสอบถามเคาท์เตอร์ข้อมูลท่องเที่ยว ถึงวิธีการเดินทางเข้าเมืองกันต่อ ก็ได้ความว่ามีรถบัสฟรีนำเราไปส่งที่สถานีรถไฟชานเมือง แล้วถึงค่อยนั่งรถเมล์เข้าเมืองจากตรงนั้นไปอีกต่อครับ

วิวของเมืองจากบนหอกิรัลดา มองเห็นพระราชวังและอาคารพลาซ่า เด เอสปาญญ่าอยู่ไกล ๆ

       เรื่องของฟรีขอให้บอกครับ เรารีบลากกระเป๋าไปรอรถตรงจุดนัดก่อนใครเพื่อน จากเดิมที่มีคนรอไม่กี่คน แต่พอยิ่งใกล้เวลารถเข้ามารับ ไม่รู้ว่าผู้คนจากไหนมายืนออรอกันอยู่เต็มไปหมด พอรถจอดเท่านั้นหล่ะครับ ต่างพากันกรูไปที่ประตูแย่งเบียดกันขึ้นจะเป็นจะตายให้ได้ จังหว่ะนั้นเองด้วยความท้อเหมือนจะถอดใจ ผมเผลอยิ้มเซ็ง ๆ ไปสบตาคุณป้าคนหนึ่งเข้า  แกเห็นดังนั้นจะด้วยความรู้สึกผิดหรือไงไม่ทราบ ก็เลยกวักมือเรียกแล้วก็ช่วยลากกระเป๋าเดินทางของผมแหวกเข้าไป พลางตะโกนโหวกเหวกฝ่าฝูงชนไปประมาณว่า " หลีกทางหน่อย ๆ นักท่องเที่ยว 2 คนนี้เขามารอตั้งนานแล้วนะ ให้เขาเข้าไปก่อน ช่วยกันเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศเราหน่อย อย่าแย่งอย่าเบียดกันนัก อายเค้า"
       ได้ผลครับ ฝูงชนพากันหยุดอยู่ในความสงบ แล้วเปิดทางให้พวกเราเข้าไปทันที ภาษาสเปนและอิตาลีจะฟังดูคล้ายกัน นั่นเป็นเพราะว่าอยู่ในกลุ่มลาตินเหมือนกัน คำหลาย ๆ คำใช้ร่วมกันกับภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงไม่ยากสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดาป้ายบอกทางหรือป้ายชื่อสถานที่ต่าง ๆ แต่ถึงกระนั้นผมก็ฟังไม่ออกหรอกนะครับ ที่เล่า ๆ มาว่าคุณป้าแกว่าอะไรบ้างนี่เดาเอาทั้งนั้น
       เมื่อถึงปลายทางแรก ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันลงยังไม่ทันได้ร่ำลา คุณป้าก็เดินหายไปกับฝูงชนเสียแล้ว จากตรงนี้เราสองคนต้องต่อรถเมล์เข้าไปกลางเมือง ก็ใช้วิธีสอบถามทางจากผู้คนตามริมทางนั้นเองครับ กว่าจะมาถึงโรงแรมที่พักได้ก็เล่นเอาทุลักทุเลพอสมควร สอบถามที่เคาท์เตอร์ได้ความว่าเพื่อนอีก  3 คนจากอัมสเตอร์ดัมจะมาถึงตอนดึก ๆ ดังนั้นช่วงหัวค่ำผมกับเพื่อนเลยพากันไปเดินเล่นแถวนั้นก่อนเป็นการชิมลางไปพลาง ๆ


รูปแบบของอาคารที่ผสมผสานระหว่างศิลปตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน

       เซบีญ่าเป็นเมืองแรกในยุโรปที่ผมสังเกตเห็นว่าเด็กวัยรุ่นเย๊อะเหลือเกินครับ อาจเพราะย่านที่พวกเราไปพักนั้นเป็นแหล่งเดินของพวกวัยรุ่นก็เป็นได้ เด็ก ๆ หนุ่มสาวชาวสเปนรูปร่างหน้าตาดีมาก ตาคมคายคิ้วเข้มขนตาดำขลับงอนกริบ แต่ละคนรูปร่างสันทัดผอมบางผิวไม่ขาวมากนัก อาจจะเป็นเพราะมีเชื้อสายของพวกแขกมัวร์มาผสม การเดินดูเมืองของเราในค่ำนี้จึงเหมือนจะเน้นดูคนเสียมากกว่าครับ
       ตึกรามบ้านเรือนในเซบีย่าส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลของชาวมุสลิมจากแอฟริกันอย่างเห็นได้ชัด นั่นเพราะว่าดินแดนแถบนี้เคยถูกยึดครองโดยชาวมัวร์นานนับ 500 ปี ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นรูปแบบของศิลปมัวร์แทรกซึมอยู่ในทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการกินการอยู่ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย  รวมไปถึงสถาปัตยกรรม
       คนสเปนนับได้ว่าค่อนไปทางติดหรูและฟุ้งเฟ้อเอาการ จากที่สังเกตตามร้านรวงมีขายแต่เสื้อผ้าเครื่องประดับฟู่ฟ่าอลังการ ตลอดจนเครื่องสำอางน้ำหอมประทินผิวยี่ห้อดังต่าง ๆ อาจเป็นเพราะนับเนื่องจากอดีต ที่ประเทศนี้เคยมั่งคั่งร่ำรวยทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลกยุคเก่า แต่แล้วด้วยการบริหารราชการแผ่นดินที่ผิดพลาด จึงทำให้ต้องมีอันตกอันดับไป แต่กระนั้นกลิ่นอายของความมั่งคั่งในอดีตก็ยังอยู่ คนสเปนในทุกวันนี้จึงเหมือนยังจมไม่ลง ถึงแม้ว่าอันดับความสำคัญทางเศรษฐกิจจะรั้งเกือบท้ายสุดในกลุ่มสหภาพอียูก็ตามที



ด้านนอกของมหาวิหารที่ดูไม่ค่อยสูงใหญ่มากนัก

       ในอดีตเซบีญ่านับเป็นเมืองเอกและเมืองท่าที่สำคัญของสเปนทีเดียวครับ นอกจากนั้นเมืองนี้ยังเป็นเมืองหลวงของแคว้นอันดาลูเซีย อันเป็นแคว้นสำคัญแคว้นหนึ่งทางใต้ของสเปน ซึ่งเคยตกอยู่ใต้การปกครองของพวกแขกมัวร์จากอัฟริกาเหนือมาก่อน ความเป็นปึกแผ่นของชาติเริ่มขึ้นในสมัยพระราชินีอิซเบลล่าและกษัตริย์เฟอร์ดินานด์ โดยการสมรสของทั้งคู่ได้นำเอาแผ่นดินสองแคว้นใหญ่ของสเปนมาผนวกกัน นั่นก็คือคาสตีลและอารากอน(คนละอันกับในเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงค์ นะครับ) หลังจากนั้นทั้่งคู่ได้ร่วมกันทำสงครามขยายดินแดน แล้วจึงปลดแอกสเปนจากแขกมัวร์เป็นผลสำเร็จ ตลอดจนทั้งได้นำพาสเปนทะยานขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ทางทะเล ซึ่งผมจะค่อย ๆ ทะยอยเล่าให้ฟังสลับกันไปเป็นช่วง ๆ นะครับ
       ลืมเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่งถึงวีรกรรมความงกของตัวเอง ที่ออกจะน่าอับอายไปสักหน่อยแต่ก็อยากเล่า ด้วยความที่น้ำดื่มมีราคาแพงมาก (เฉลี่ยประมาณขวดละ 2 ยูโร ซึ่งตอนนั้นตกยูโรละ 50 บาท) เวลาอยู่ห้องผมเลยดื่มน้ำจากก๊อก ซึ่งทางยุโรปเขาก็รับประกันอยู่แล้วว่าน้ำประปาของเขาดื่มได้ พอออกไปข้างนอกก็กรอกน้ำใส่ขวดนำติดตัวไปด้วย และตอนนี้ก็เกือบเดือนแล้วครับที่ระหกระเหินอยู่ที่นั่น ปรากฏว่าหินปูนเกาะเขรอะเต็มปากเต็มฟันไปหมด นี่ถ้าหากว่าอยู่ต่อนานกว่านี้อีกสัก 3 เดือน สภาพช่องปากผมคงจะไม่ต่างอะไรกับโพรงถ้ำ ที่เกิดมีหินงอกหินย้อยเกาะพราวไปหมด พอกลับมาถึงเมืองไทยปั๊บ สิ่งแรกที่รีบทำก่อนเลยคือไปขูดหินปูนครับ พลางพยายามคิดในเชิงบวกว่า ชาวยุโรปเขานิยมดื่มน้ำแร่กัน ดังนั้นน้ำประปาบ้านเขาคงจะอุดมไปด้วยแร่ธาติอย่างที่เห็น แล้วก็หวังไกลไปอีกหน่อยว่า แร่ธาติเหล่านั้นคงจะไม่ไปตกผลึกที่ไตหรือกระเพาะปัสสวะอีกต่อนะครับ ไม่งั้นคงต้องลำบากไปให้หมอควักออกให้ เป็นของที่ระลึกจากการเดินทางเก็บไว้อีกชิ้นหนึ่ง
        กว่าพวกเพื่อนอีก 3 คนจะมาถึงก็เที่ยงคืนกว่า คืนนี้ฝนตกปรอย ๆ อยู่ทั้งคืน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกในดินแดนที่ร้อนและแห้งแล้งที่สุดในยุโรป สเปนมีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 2 ของทวีป (จะเป็นรองก็แต่ฝรั่งเศสครับ) สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่ และด้วยความที่อยู่ใกล้ทวีปแอฟริกา สภาพอากาศจึงร้อนและแห้งแล้งกึ่งทะเลทราย แต่กระนั้นในหน้าหนาวตามที่ราบสูงและบนภูเขาก็มีหิมะตก แถมยังมีรีสอร์ทสกีชั้นดีอีกหลายแห่งเปิดให้บริการด้วยครับ




ภายในของวิหารที่กว้างและสูงใหญ่มาก หากเทียบกับขนาดของคนที่ยื่นอยู่ในภาพ

       เช้าวันต่อมาคณะของเราซึ่งตอนนี้เพิ่มเป็น 5 คน ก็พากันไปเที่ยวสถานที่หลักของเมืองกันก่อนนั่นก็คือ มหาวิหารแห่งเซบีญ่า วิหารแห่งนี้เขาว่ากันว่าเป็นวิหารกอธิคที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ ขนาดของวิหารเมื่อมองจากด้านนอกดูไม่ค่อยสูงใหญ่เท่าไหร่นัก แต่เมื่อเข้าไปข้างในแล้วถึงได้รู้ว่าขนาดที่เห็นข้างนอกนั้นลวงตาแค่ไหน ตัววิหารสร้างทับไปบนสุเหร่าหรือมัสยิสถ์เก่าประจำเมือง สิงปลูกสร้างเดิมในศาสนาอิสลามที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันเพียงสิ่งเดียว ก็คือหอบังหรือมิเนเรสที่สูงใหญ่ร่วมร้อยเมตร ปัจจุบันถูกดัดแปลงเป็นหอระฆังประจำโบสถ์ไปเรียบร้อยแล้วครับ ภายในวิหารมีศิลปวัตถุที่สำคัญจัดแสดงอยู่มากมาย ที่อลังการสุด ๆ ก็คือแท่นบูชางานแกะสลักไม้เนื้อแข็งจากทวีปอเมริกาใต้ ภาพเขียนของศิลปินดังของสเปนเช่นโกย่า รวมทั้งหลุมฝังศพของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสด้วยครับ


หลุมฝังศพของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

       แต่เดิมนั้น คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส มีพื้นเพเป็นชาวเมืองเจนัวประเทศอิตาลี เขาเป็นนักเดินเรือที่เชื่อในเรื่องทฤษฎีโลกกลม และยังเชื่ออีกว่าสามารถเดินเรือไปเอเชียตะวันออกไกล ได้ด้วยการออกเรือไปทางทิศตะวันตกแทน ความคิดของเขาได้รับการปฏิเสธจากหลาย ๆ ฝ่าย รวมทั้งราชสำนักต่าง ๆ ที่เขาไปขอความสนับสนุนในเรื่องทุนรอน หนำซ้ำยังถูกตราหน้าว่าเป็นคนสติเฟื่องเสียอีกด้วยสิครับ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของพระนางอิซเบลล่าแห่งสเปน ผู้ซึ่งเชื่อมั่นในตัวเขา พระนางจึงสนับสนุนทุนรอนในการเดินทางทั้งหมดให้ โดยมีเงื่อนไขว่าดินแดนและทรัพย์สมบัติที่เขาค้นพบ จะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสเปนแต่เพียงผู้เดียว
        คุณ ๆ จำได้มั้ยครับที่ผมเคยเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับความมั่งคั่งของเวนีซและเส้นทางสายไหม จนเมื่อจักรวรรดิโมกุลล่มสลาย มีผลให้เส้นทางสายไหมถูกตัดขาด จากนั้นเวนีซก็ซบเซาลง ประกอบกับโปรตุเกสได้ค้นพบเส้นทางเดินทะเลสายใหม่ ที่มุ่งสู่อินเดียและจีนโดยอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทางใต้ของแอฟริกาสำเร็จ ยังผลให้โปรตุเกสกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเล แล้วก็ผูกขาดเส้นทางเดินเรือสายใหม่นั้นแต่เพียงผู้เดียว
       โคลัมบัสภายใต้การอุปถัมภ์ของพระนางอิซเบลล่า จึงออกสำรวจเส้นทางใหม่ไปทางทิศตะวันตก และเขาก็ตั้งต้นออกเรือจากท่าที่เมืองเซบีญ่าแห่งนี้นี่เองครับ จนเมื่อไปพบทวีปใหม่เข้าโคลัมบัสก็ยังเข้าใจผิดไปว่าดินแดนที่ตนเองค้นพบนั้นคืออินเดีย จึงเรียกคนพื้นเมืองในแผ่นดินใหม่ที่ค้นพบว่า 'อินเดียน'(อินเดียนแดง) ยังไงหล่ะครับ
       ตามหลังโคลัมบัสไปก็มีนักสำรวจอีกหลายชาติ รวมทั้งโปรตุเกสด้วยนะครับที่แย่งกันไปสำรวจดินแดนใหม่ จนมารู้ความจริงในตอนหลังว่าดินแดนที่ค้นพบนั้น แท้จริงคือทวีปใหญ่ที่คั่นกลางระหว่างยุโรปและเอเชียอีกที ซึ่งก็คือทวีปอเมริกานั่นเองครับ
       ต่อจากนั้นทวีปนี้ส่วนหนึ่งจึงตกเป็นอาณานิคมของสเปน ยังผลให้ประเทศนี้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลอีกชาติหนึ่ง โดยขับเคี่ยวกันไปกับโปรตุเกส เซบีญ่าจึงมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมา ในฐานะเมืองท่าและศูนย์กลางการติดต่อค้าขายสำคัญของอาณานิคม  


หอกิรัลดา Giralda

วิวจากบนหอกิรัลดา ที่เห็นกลม ๆ คล้ายสเตเดียมคือสนามสู้วัวกระทิง

       หลังจากเดินดูภายในวิหารจนทั่วแล้วจึงพากันขึ้นไปบนหอระฆังเพื่อชมวิวกันครับ หอระฆังแห่งนี้มีชื่อในภาษาสเปนว่ากีรัลดา (Giralda)  เดิมทีเป็นหอบังหรือมิเนเรสประจำสุเหร่าของศาสนาอิสลาม เมื่อชาวมัวร์ผู้ครองเมืองแต่เดิมเกิดแพ้ศึกจำต้องถอยร่นไป ชาวคริสเตียนผู้ครองเมืองใหม่จึงสร้างวิหารในศาสนาคริสต์คร่อมทับลงไปบนสุเหร่า เสร็จแล้วจึงดัดแปลงหอมิเนเรสเป็นหอระฆังแทน วิวจากบนหอสามารถมองเห็นทัศนียภาพไปได้ไกลสุดสายตาเลยหล่ะครับ เมื่อมองเลยเขตเมืองออกไปจะเห็นที่ราบเวิ้งว้างกว้างใหญ่ แลดูคล้ายทะเลทรายโอบล้อมเมืองเอาไว้ทุกด้าน ลักษณะภูมิประเทศแบบนี้เป็นลักษณะเฉพาะ ที่ดู ๆ ไปแล้วเหมือนอยู่ในทวีปแอฟริกาเหนือมากกว่าจะเป็นยุโรปเสียอีก

นอกเขตเมืองออกไปคือที่ราบแห้งแล้งกว้างใหญ่อย่างที่เห็น

       ช่วงบ่ายเราพากันเดินข้ามไปเที่ยวพระราชวังอัลคาซาร์ (Reales Alcazares) ชื่อเหมือนคลับโชว์สาวประเภทสองที่พัทยาเลยใช่มั้ยหล่ะครับ จริง ๆ แล้วอัลคาซาร์เป็นภาษาอาหรับแปลว่า 'ป้อมปราการ' ศิลปการก่อสร้างและตกแต่งเป็นแบบอาหรับ มีการประดับลวดลายตกแต่งอ่อนช้อยตามหลักศาสนาอิสลาม ตอนนี้ผมจะยังไม่ขอบรรยายมากนักเพราะเกรงว่าพวกคุณจะเบื่อกันเสียก่อน ในเรื่องของความสวยงามแล้วพระราชวังแห่งนี้ยังนับว่าด้อยกว่าอีกแห่งหนึ่งมาก ซึ่งผมจะนำชมในตอนถัดไปอีก  2 เมืองข้างหน้าครับ เอาเป็นว่าตอนนี้ขอนำชมแบบผ่าน ๆ แค่พอหอมปากหอมคอก่อนแล้วกันครับ


หลังคาโดมทองในศิลปมุสลิมในพระราชวังหลวง



การตกแต่งภายในและภายนอกตำหนักที่ได้รับอิทธิพลของศิลปมุสลิม

       สิ่งปลูกสร้างภายในพระราชวังเป็นตำหนักใหญ่น้อย เชื่อมต่อกันเป็นหลัง ๆ โดยมีสวนหย่อมและลานน้ำพุแทรกอยู่เป็นระยะ ภายในตำหนักหลังหนึ่งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการเดินทะเล เพื่อบอกเล่าประวัติและความเป็นมา ของการเป็นชาติมหาอำนาจทางทะเลดังที่ผมได้เล่าไปแล้วข้างต้น
       เมื่อเสร็จจากดูวังแล้วเราก็พากันเดินต่อไปยัง พลาซ่า เด เอสปาญญ่า อากาศในช่วงบ่ายของเมืองแถบนี้ร้อนทารุณใช้ได้ครับ แสงแดดร้อนแรงแผดเผาเสียจนแสบหน้า นี่ถ้าหลับตาเดินคงหลงคิดไปว่าอยู่กลางทุ่งนาที่บ้านเรา พวกผมจึงใช้วิธีเดินไปหยุดไปเป็นพัก ๆ ทางช่วงไหนแดดแรงก็พักนานหน่อย ดังนั้นกว่าจะไปถึงจุดหมายก็ทำให้เสียเวลาพอสมควร จังหว่ะนั้นเองก็มีชายหนุ่มชาวสเปนสองคนเดินจูงมือกันเดินผ่านไป ด้วยความหมั่นไส้พี่ในกลุ่มคนหนึ่งเลยเดินกรีดกรายแซงสองคนนั้นไปเหมือนประชด แล้วทันใดนั้นเขาก็หันมาประกบปากจูบโชว์ให้ดูอย่างดูดดื่ม เล่นเอาพวกเราเหวอรับประทานกันกลางถนนกลางแดดเปรี้ยงนั่นเลยหล่ะครับ

อาคาร พลาซ่า เด เอสปาญญ่า รูปพระจันทร์เสี้ยว

       อาคารที่ พลาซ่า เด เอสปาญญ่า มีลักษณะโค้งครึ่งวงกลมหรือพระจันทร์เสี้ยวตามแต่จะจินตนาการครับ เป็นอาคารใหม่พึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี คศ. 1929 เพื่องาน Iberian-American Expo โดยเฉพาะ ตัวอาคารรวบรวมลักษณะเด่นทั้งหมดของสถาปัตยกรรมสเปนเอาไว้ โดยเฉพาะการประดับตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องเคลือบ ซึ่งทำให้ดูสวยงามและแปลกตากว่ายุโรปภูมิภาคอื่น เมื่อเสร็จจากจุดนี้เราก็พากันเดินลัดเลาะไปที่ริมฝั่งแม่น้ำ ได้พบป้อมปราการหลังหนึ่งซึ่งดูไม่โดดเด่นมากนักในเชิงสถาปัตยกรรม แต่เห็นว่ามีความสำคัญมากมายในเชิงประวัติศาสตร์ เหตุเพราะป้อมแห่งนี้เดิมใช้เป็นพระคลังเก็บสมบัติที่ยักยอกมาจากดินแดนในอาณานิคมของสเปนทั้งหมดนั่นเองครับ

ส่วนยอดของอาคาร พลาซ่า เด เอสปาญญ่า ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบ

       อ่านถึงตรงนี้แล้วหลายท่านคงจะเริ่มรู้สึกเบื่อนะครับ ผมเองก็เช่นกันหลังจากเดินฝ่าเปลวแดดมาทั้งวันจนบ่ายคล้อย พวกเราแต่ละคนจึงมีอาการเพลียอย่างเห็นได้ชัด โปรแกรมในคืนนี้ที่ว่าจะพากันไปชมระบำฟลามิงโกจึงถูกยกเลิกเพราะเกรงว่าจะดึกเกินไป ในตอนค่ำจึงพากันไปหาอะไรทานง่าย ๆ แล้วตบท้ายด้วยการนั่งดื่มกันนิดหน่อยแทน
       ในขากลับด้วยความคึกของพี่คนหนึ่งเลยชวนกันกลับอีกทาง ไม่เดินย้อนกลับทางเดิมเผื่อว่าจะได้เดินดูเมืองยามค่ำไปด้วยในตัว แล้วก็เกิดเรื่องจนได้ครับเพราะ 5 คน ต่างก็ถือแผนที่คนละใบพากันชี้ไปคนละทาง ยิ่งเถียงกันก็ยิ่งหลงเพราะเต็มไปด้วยซอกเล็กซอยน้อยไปหมด พอมีคนแปลกหน้าผ่านมาถามทางเขาก็ได้แต่ชี้เพราะพูดอังกฤษไม่ได้ ตอนนี้เมฆฝนฟ้าคะนองเริ่มตั้งเค้ามาอีกครั้งหนึ่งแล้ว พวกเราเดินหลงทางกันไปใจคอเริ่มไม่ค่อยดีเพราะกลัวฟ้าผ่า เวลาฟ้าร้องเสียงดังสนั่นขึ้นมาที ชาวเมืองแถบนั้นคงตกอกตกใจกันใหญ่เพราะเสียงกรี๊ดของสาวไทยดังกว่า เห็นหลาย ๆ บ้านเปิดหน้าต่างออกมาดูกันสลอนว่ามีใครโดนทำอะไรหรือเปล่า
       บ้านเรือนแถบนี้จะว่าแล้งน้ำใจก็ไม่น่าจะใช่ หรือเป็นเพราะฝนบ้านเขาไม่เย๊อะหรืออย่างไรก็ไม่ทราบครับ บ้านแต่ละหลังที่ปลูกชิดติดริมถนนถึงได้ไม่มีแม้แต่ชายคาเล็ก ๆ ให้ยืนหลบแดดฝน พอสายฝนโปรยลงมาเราจึงจำใจวิ่งฝ่ากันไปทั้งอย่างนั้นโดยไม่กลัวป่วย ตลอดทางก็โดนแซวอยู่เป็นระยะจากชายหนุ่มเจ้าของถิ่น มีเสียงหนึ่งได้ยินไล่หลังมาไกล ๆ ว่า "ซาโยนาระ ๆ" ฟังแล้วแทบจะหันกลับไปย่อเข่าพนมมือสวัสดีให้ นี่คงไม่เคยเห็นคนไทยหล่ะสิท่า พอเห็นใครหัวดำตาตี่เป็นต้องเหมาเอาว่าเป็นญี่ปุ่นไปเสียหมด

สวนสวยในพระราชวังหลวง

        และแล้วก็กลับมาถึงที่พักโดยสวัสดิภาพ หลังจากที่เดินกันอย่างทารุณมาทั้งวันเล่นเอาคืนนี้หลับเป็นตาย แต่พรุ่งนี้ก็ต้องออกเดินทางกันต่อแล้วหล่ะครับ โปรแกรมต่อจากนี้จะไปกอร์โดบาร์กัน ทริปสเปนคราวนี้นับได้ว่าเป็นทริปผจญภัยพอสมควร เพราะในการเดินทางพรุ่งนี้เราจะเช่ารถขับกันเอง และสิ่งหนึ่งที่นับว่าใหม่มากในตอนนั้น ถึงขนาดทำให้แต่ละคนตื่นเต้นกันพอสมควรก็คือทอม ๆ (เป็นชื่อเล่นหรือยี่ห้อของเครื่องนำทางผ่านดาวเทียมผมก็ไม่แน่ใจครับ แต่พี่ ๆ เขาเรียกอย่างนั้น)  แล้วค่อยมาดูกันต่อนะครับว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรน่าตื่นเต้นมั่ง พบกันที่กอร์โดบาร์ครับ
      
      

      
      
      
     

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปิซ่า....และมิตรภาพบนทางผ่าน (Pisa....and Friendship along the way) Pisa,Italy

   
        วันที่สี่ในโรมสายฝนโปรยปรายแต่เช้าและทำท่าว่าจะไม่หยุดเอาง่าย ๆ แต่วันนี้เราจะไปเที่ยวปิซ่ากันครับ หวังว่าที่นั่นฝนคงจะไม่ตก ในเมื่อตั๋วยูเรลจะหมดอายุในวันพรุ่งนี้แล้ว และโรมก็เที่ยวกันจนคิดว่าทั่ว เลยพากันเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งรถไฟเล่นต่างเมืองดีกว่า
       จากโรมไปปิซ่าถือว่าไกลพอควรเหมือนกันครับ ความจริงถ้านึกอยากเที่ยวตั้งแต่แรก เราควรจะนั่งรถแวะไปตั้งแต่ตอนที่อยู่ฟลอเรนซ์เพราะใกล้กว่า แต่ตอนนั้นมี 2 ช้อยส์ให้เลือกคือปีซ่าและเวนีซ ซึ่งเวนีซดูจะมีภาษีกว่ามาก เราเลยตัดปิซ่าออกไปก่อน เมื่อดูในแผนที่แล้วจากโรมถึงปิซ่าเส้นทางรถไฟเลียบเลาะชายฝั่งทะเลไปตลอด ในตัวเมืองปิซ่าจริง ๆ คงจะไม่มีอะไร แต่อย่างน้อยก็ถือเสียว่าได้นั่งรถไฟสูดกลิ่นไอทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็ยังดีครับ
       แล้วรถไฟก็ดีเลย์ร่วม 2 ชั่วโมงกว่าแบบไม่มีกำหนด พอไปถามที่เคาท์เตอร์เขาก็บอกว่ารถมาแน่ แต่ช้านิดหน่อยด้วยสาเหตุขัดข้องบางประการ ระหว่างนั้นผมก็เลยเดินเที่ยวดูอะไรฆ่าเวลาไปพลาง ๆ พึ่งสังเกตว่าในสถานีรถไฟแตร์มินี่ มีช็อปหรูอย่างชาแนลและปราดาเปิดทำการด้วยครับ แต่การจัดวางสินค้าและดิสเพลย์ดูไม่โอ่อ่าใหญ่โตเหมือนที่เกษรหรือพารากอน ส่วนเรื่องราคาไม่ต้องพูดถึงครับคงจะมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ของฟุ่่มเฟือยเหล่านี้มีไว้ให้พวกเศรษฐีเงินถุงเงินถังใช้เท่านั้น อย่างพวกเราหากตะเกียกตะกายควักเนื้อซื้อมาใช้ ก็คงจะมีแต่คนหาว่าบ้า หรือไม่ก็คงจะหยามน้ำหน้าเอาได้ว่าอย่างเราหรือจะมีปัญญาใช้ของแท้
       อีกอย่างหนึ่งอาจจะทำให้หลายคนในบ้านเราภูมิใจ ก็คือกำหนดการเข้าฉายของหนังฮอลลีวูด ซึ่งจะช้ากว่าบ้านเรามากครับ ตอนนั้นจำได้ว่าเรื่องที่กำลังโปรโมทอยู่ในโรม ผมได้ดูจากโรงที่เชียงใหม่ก่อนหน้านั้นเป็นเดือน ๆ แล้ว แสดงว่าตลาดนักดูหนังของไทยค่อนข้างใหญ่พอสมควร เราถึงได้มีโอกาสดูหนังฟอร์มยักษ์หลาย ๆ เรื่องได้ก่อนใครในภูมิภาคไงครับ
       และแล้วรถไฟไปปิซ่าก็เข้าเทียบชานชาลาได้เสียที ในขบวนรถแน่นเหมือนเคยจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับประเทศนี้ ระหว่างทางขณะที่รถกำลังแล่นไปนั้นเอง นายตั๋วก็เดินมาตรวจถึงตรงห้องที่พวกผมนั่งอยู่ พอแกเห็นว่ามีใครไม่รู้มือบอนแอบแง้มกระจกหน้าต่างทิ้งไว้ เลยต่อว่าต่อขานออกมายกใหญ่ซึ่งผมฟังแล้วก็ไม่เข้าใจเลยปล่อยผ่าน แต่คู่สามี-ภรรยาที่นั่งข้างผมคงเหลืออด เลยสวนกลับไปยกใหญ่ แล้วก็เกิดการถกเถียงกันยืดยาวใหญ่โต สมแล้วหล่ะครับที่มีคนตั้งฉายาให้คนอิตาเลียนว่าเป็นเจ๊กยุโรป ลาวหัวดำสองคนจากเมืองไทยเลยได้แต่นั่งเหงื่อตกเพราะกลัวลูกหลง
       ที่อิตาลีนี่เราจะเห็นคนทะเลาะกันจนเป็นเรื่องธรรมดาครรับ มันอาจจะเป็นแค่การถกเถียงกันด้วยเรื่องเล็กน้อยก็ได้ แต่ด้วยลีลาและน้ำเสียงทำให้ดูเหมือนกับว่ากำลังทะเลาะกันใหญ่โต แต่ละคนระเบิดอารมณ์ใส่กันเหมือนโกรธกันมาแต่ชาติปางไหน แต่พอทะเลาะเสร็จก็เลิกแล้วกันไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ส่วนนี้น่าจะเป็นข้อดีของเขามั้งครับตรงที่ว่าสามารถแสดงออกได้เต็มที่ ผิดจากบ้านเราที่มัวอ้อมค้อมกว่าจะพูดออกมาได้ก็อัดอั้นจนอกแทบระเบิด สังคมเมืองไทยถึงเหมือนจะรอมชอมแต่จริง ๆ แล้วเก็บกด พอนานเข้าเมื่อถึงจุดเดือดหลายคนจึงบันดาลโทสะออกมาด้วยความรุนแรง แต่จะว่าไปการพูดจาโผงผางตรงไปตรงมาอย่างฝรั่งก็คงจะเหมาะแต่กับคนเชื้อชาติฝรั่งด้วยกันเท่านั้น หากคนไทยคิดอยากจะเปลี่ยนไปทำตามเขาก็คงไม่เหมาะหรอกครับ ยังไงเสียผมก็ยังคิดว่าเราเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ดีแล้ว อย่างไหนที่ดีเราก็เก็บไว้ ส่วนอย่างไหนที่ไม่ดี ที่สากลเขาไม่ยอมรับก็ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนมันไป


       ในตู้โดยสารเดียวกันนั้นยังมีผู้ชายอีกสามคนนั่งอยู่ ตัวโตสูงใหญ่พูดจาโผงผางดูท่าไม่น่าไว้วางใจซักเท่าไหร่ คนที่เหมือนจะเป็นหัวหน้าพอจะพูดภาษาอังกฤษได้กล้อมแกล้ม  เค้าเข้ามาชวนพวกเราคุยทำทีเหมือนตีสนิท ถามพวกเราว่าเป็นใคร มาจากไหนกัน และกำลังจะไปไหน โดยประโยคที่ใช้โต้ตอบกันนั้นต้องพูดให้สั้น ๆ คือถ้าพูดยาวมากแกจะไม่เข้าใจครับ และก็เป็นเพื่อนผมอีกแล้วครับที่เคยเล่าให้ฟังว่า เคยมีประสพการณ์เลวร้ายค่อนข้างสาหัสเลยทีเดียว กับการเดินทางด้วยรถไฟในอิตาลี กล่าวคือโดนวางยาปลดทรัพย์บนตู้นอนเที่ยวกลางคืน เมื่อนานมาแล้วขณะกำลังเดินทางจากโมนาร์โคไปมิลาน โชคดีที่ตอนนั้นถือเงินสดไม่มาก ส่วนใหญ่ก็เป็นทราเวลเช็ค และเขาก็รอบคอบพอจะจดหมายเลขกำกับของทุกใบไว้ พอไปแจ้งหายธนาคารจึงสามารถอายัดและออกใบใหม่ทดแทนให้ได้ทันท่วงที แต่กว่าจะเสร็จเรื่องก็ใช้เวลาหลายวันครับ เล่นเอาเกือบหมดอารมณ์เที่ยว แปลกแต่ก็จริงที่เขาไม่เคยรู้สึกเข็ด สำหรับผมถึงแม้จะไม่ใช่ประสพการณ์ตรง แต่เมื่อเห็นคนแปลกหน้าพยายามเข้ามาตีสนิทด้วยอย่างนี้ กลับทำให้รู้สึกอึดอัดใจอย่างบอกไม่ถูก
       เรื่องการใช้เช็คเดินทางนั้นหลาย ๆ คนอาจจะเห็นว่าล้าสมัย ด้วยว่าเดี๋ยวนี้มีทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือแม้กระทั่งบัตรเอทีเอ็มที่สามารถกดเงินได้ทั่วโลก แต่ต้องอย่าลืมนะครับว่าถ้าทำหายแล้วอายัดไม่ทันก็เตรียมตัวปวดหัวกันได้เลย โดยเฉพาะบัตรเครดิตและบัตรเดบิตจำพวกวีซ่า-อีเล็คตรอน ซึ่งสามารถนำไปรูดซื้อของได้ทันที โดยแทบไม่มีการตรวจดูชื่อหรือลายเซ็นต์ด้านหลังบัตร การจะแจ้งอายัดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ ไหนจะเรื่องภาษาที่ไม่สามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง มีเพื่อนผมคนหนึ่งเคยทำบัตรวีซ่า-อีเล็คตรอนหายที่เมืองไทย พอโทรไปอายัดเขาให้แจ้งหมายเลขบัตร 16 หลัก เพื่อนผมคนนั้นอึ้งเลยครับ เป็นใครจะไปจำได้ ผลก็คือเงินในบัญชีโดนรูดซื้อของไปเกือบเกลี้ยง เรื่องนี้เพื่อนเล่าให้ฟังเมื่อนานมากแล้วครับ ก็ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้เค้าจะปรับปรุงกันหรือยัง ไม่รู้ว่ายังจะต้องแจ้งหมายเลขบัตรอีกหรือเปล่า(สำหรับคนที่พกบัตรเครดิตหลาย ๆ ใบคงปวดหัวตาย)
       นี่ขนาดว่าเรื่องเกิดที่เมืองไทยนะครับ ถ้าเป็นต่างบ้านต่างเมืองน่ากลัวจะยุ่งยากกว่าหลายเท่า บัตรเอทีเอ็มก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะมิจฉาชีพเดี๋ยวนี้สามารถสรรหาทุกวิถีทางในการจะล้วงข้อมูลของเราไปได้ ยังไงเสียในใจของผมตอนนี้ เช็คเดินทางก็มาเป็นอันดับหนึ่งเสมอเรื่องความปลอดภัยครับ
       นอกเรื่องไปเสียยืดยาว ทีนี้มาคุยกันต่อเรื่องเพื่อนใหม่ดีกว่าครับ แกเล่าให้ฟังว่าเดินทางมาจากเนเปิลทางภาคใต้เพื่อจะไปเจนัวซึ่งอยู่ทางเหนือ ในส่วนของระยะทางน่าจะไกลพอ ๆ กับภูเก็ต-เชียงใหม่ แต่ระหว่างทางก่อนถึงโรมนั่นเอง ก็มาเกิดเรื่องขึ้นกลางทางเสียก่อนเพราะรถดันไปชนคนตายเข้า จนถึงตอนนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นอุบัติเหตุหรือการฆ่าตัวตายกันแน่ และนั่นก็คือสาเหตุว่าทำไมรถถึงได้ดีเลย์นานขนาดนั้นไงครับ ดีนะเนี่ยที่เราขึ้นรถขบวนนี้กันตอนกลางวัน ถ้าเป็นกลางคืนอาจจะเกิดอาการจิตหลอนกันอีกก็ได้ หลังจากที่พึ่งหลอนไปเมื่อคืนนี้
       ไม่รู้ว่าแกเกิดถูกอกถูกใจอะไรพวกผมนักหนา ถึงได้คอยสังเกตสังกากันยกใหญ่ พอเห็นแหวนที่เพื่อนผมใส่ว่าสวย ก็ขอให้ถอดให้ดูแล้วถามซื้อเอาดื้อ ๆ พอเพื่อนผมบอกปัดไปว่าไม่คิดจะขายหรอก แกก็ควักเงินออกมาให้ดูเป็นฟ่อน ๆ ว่าเห็นมั้ยฉันมีเงินจ่ายนะ เสร็จแล้วก็มาขอดูนาฬิกาข้อมือผมอีกว่าสวยดียี่ห้ออะไร พอผมตอบไปว่าไซโก(Seiko) แกก็พูดสำทับใหญ่บอกว่ายี่ห้อนี้ดีนะเพื่อนเขาก็ใส่แต่เป็นของ Made in Taiwan ถึงตรงนี้เพื่อนเขาจากที่นั่งกันเงียบ ๆ เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย พอได้ยินอย่างนี้ก็หัวเราะร่วนกันใหญ่      
       เรื่องสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้นจริง ๆ แล้ว แหล่งผลิตอันดับโลกที่ทำในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบเลยคือจีนและไต้หวันครับ ส่วนบ้านเราที่เป็นปัญหาขึ้นบัญชีดำกับเขา เพราะว่าเป็นแหล่งกระจายสินค้ามากกว่า  โดยผู้บริโภคหลักส่วนใหญ่ก็คือพวกนักท่องเที่ยวจากฝั่งตะวันตกนั่นเอง คุณ ๆ หลายคนคงเคยได้ยินข่าวมาบ้างแล้วนะครับว่า ถ้าไม่อยากถูกจับที่ยุโรปแล้วหล่ะก็ อย่างหนึ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยงไม่ควรใช้เด็ดขาดเวลาไปเที่ยวก็คือ บรรดาเสื้อผ้า,กระเป๋าหรือรองเท้าที่ทำปลอมยี่ห้อดัง ๆ ของบ้านเค้า เห็นว่าที่อิตาลีและฝรั่งเศสค่อนข้างเข้มงวดกันเลยทีเดียว ถูกจับเสียค่าปรับคงไม่เท่าไหร่แต่เสียหน้านี่สิครับเรื่องใหญ่ ฉนั้นช่วยกันเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศเราหน่อยครับ ถ้าไม่มีปัญญาซื้อของแท้แล้วหล่ะก็เลิกซื้อเลิกใช้ไปเลยจะดีกว่า (เห็นว่าเดี๋ยวนี้มีบริหารให้เช่าด้วยนะครับ สำหรับใครที่อยากโชว์แต่ไม่มีปัญญาซื้อ)
       คุยกันไปคุยกันมาก็ชักจะเริ่มถูกคอ ถึงแม้ว่าวิธีการหลายอย่างของพวกเขา จะดูคล้ายพวกแกงค์ตกทองในเมืองไทย แต่จะว่าไปพวกเราก็ไม่มีทองที่ไหนให้ตกหรอกครับ ท่าทางเขาคงจะเหนื่อยและเซ็งกับการเดินทางมากกว่า พอเห็นนักท่องเที่ยวอย่างพวกเราผ่านมาเลยชวนคุยแก้เหงา และเราก็ได้ทราบข่าวเครื่องของโอเรียนท์ไทยไถลตกรันเวย์จากปากพวกเขานั่นเอง
       คุยกันไปดูวิวกันไปก็พอดีถึงปิซ่าเสียก่อน จากโรมใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า เลาะเลียบชายฝั่งทะเลทิร์เรเนียน(Tyrrhenian Sea) ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของเมดิเตอร์เรเนียน(Mediterranean Sea) นั่นเอง อีกฟากหนึ่งของฝั่งทะเลนี้ก็คือทวีปแอฟริกา ดังนั้นสภาพอากาศแถบนี้จึงร้อนและแห้งกว่าภูมิภาคอื่นของยุโรป ก่อนร่ำลาจากกันก็มีการแลกเปลี่ยนชื่อที่อยู่กันเล็กน้อย เผื่อว่าจะมีโอกาสได้เจอกันอีกหากโชคอำนวย แต่มิตรภาพบนทางผ่านเมื่อจากกันไปแล้วก็เหมือนลาลับ โอกาสจะได้กลับมาเจอะเจอกันอีกนั้นแทบไม่มี อย่างไรเสียก็ยังดีกว่า ที่อย่างน้อยมิตรภาพเล็ก ๆ ในครั้งนี้ พอจะช่วยลบความรู้สึกไม่ดีต่อผู้คนบนแผ่นดินนี้ออกไปจากใจได้บ้าง และหากจะมีโอกาสสักครั้ง พวกเราก็อยากกลับมาเยือนที่นี่อีกเสมอ
       ที่ปิซ่าผมกับเพื่อนเถียงกันอีกเล็กน้อยว่าจะเดินหรือนั่งรถเมล์ดี ใจผมก็อยากเดินดูวิวไปเรื่อย ๆ แบบไม่รีบร้อนเพราะคิดว่าไม่ไกลมาก ส่วนเพื่อนผมถึงวันนี้คงจะล้าเต็มทีแล้ว เพราะเล่นเดินกันทุกวันจนพื้นรองเท้าสึก แล้วสุดท้ายผมก็เป็นฝ่ายชนะ จะด้วยเพราะอะไรก็ตามแต่ เพื่อจะมารู้ความจริงในตอนหลังว่ามันไม่ได้ใกล้อย่างที่คิดเลย ตอนแรกคะเนด้วยสายตาคร่าว ๆ จากแผนที่แผ่นใหญ่ที่แปะไว้ตรงสถานีรถไฟ ก็คิดว่าเดินเลยโค้งหน้าคงถึง พอเอาเข้าจริงผ่านไปโค้งแล้วโค้งเล่าก็ยังไม่ถึง หอเอนที่คิดว่าน่าจะมองเห็นจากตรงไหนของเมืองก็ได้ จนป่านนี้แล้ว ก็ยังไม่โผล่พ้นหลังคาตึกมาให้ใจชื้นเสียที
       รูปแบบของอาคารบ้านเรือนและโทนสีที่ใช้ในปิซ่า ดูคล้ายฟลอเรนซ์มากครับ ถ้าหากจะบอกว่าเหมือนเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันก็คงจะไม่ผิดนัก เสียดายที่ผมมัวแต่จ้ำอ้าวเลยไม่ได้หยุดแวะถ่ายรูปมาให้ชมกันนะครับ
       แล้วก็มาถึงหอเอนเจ้าปัญหาจนได้ หลาย ๆ คนคงจะเคยผ่านตากันมาบ้างแล้วจากในโทรทัศน์หรือหนังสือแนะนำแหล่งเที่ยว และถ้ายังจำกันได้ก็ตอนมัธยมต้นในวิชาวิทยาศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องกฏของแรงโน้มถ่วงไงครับ ที่เซอร์ไอแซค นิวตัน ได้มาทำการทดลองภาคปฏิบัติว่า ด้วยการโยนลูกตุ้มเหล็กลงจากหอเอนแห่งนี้ ตัวหอสูง 54 เมตรหน้าตาคล้ายเค้กแต่งงานก้อนเท่า ๆ กัน ที่เอามาวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เห็นว่าตอนนี้ตัวหอเอียงจากแกนกลางไปประมาณ 4.25 เมตร และคงจะล้มลงในอีก 100 ปีข้างหน้านี้เป็นแน่ถ้ายังไม่รีบทำอะไรเสียก่อน


       หอเอนเริ่มสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 12 โดยชาวเมืองปิซ่าที่ต้องการสร้างให้ใหญ่และสูงกว่าของเมืองคู่แข่ง แต่เจ้ากรรมด้วยชั้นดินที่อ่อนนุ่มและฐานรากที่ไม่มั่นคง ทำให้ตัวหอเริ่มเอียงให้เห็นเมื่อก่อสร้างขึ้นไปได้แค่ 2-3 ชั้นเท่านั้น แต่ด้วยความมุทะลุและความอยากที่จะเอาชนะของมนุษย์ จึงทำให้ดันทุรังสร้างหอสำเร็จจนได้ และนับจากนั้นหอก็ค่อย ๆ เอียงลงจนถึงทุกวันนี้
        ด้วยเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ วิศวกรจึงได้ทำการเสริมฐานรากของโครงสร้างให้มั่นคงขึ้น และคาดว่าคงจะไม่เอียงมากไปกว่านี้อีกแล้ว เห็นว่าเขาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปบนหอได้แต่จำกัดจำนวนคน ซึ่งดูจากสภาพแล้วพวกผมไม่ขอขึ้นไปเด็ดขาดครับ เอียงกะเท่เร่ออกอย่างนั้นกลัวเดินเซตกระเบียงลงมาหน่ะสิครับ
       ในบริเวณเดียวกันยังมีมหาวิหารและหอทำพิธีแป๊ปติส ถ้าหากจะเข้าชมต้องซื้อตั๋วซึ่งออกจะผิดธรรมเนียมคนงกอย่างพวกเราไปสักหน่อย จริง ๆ แล้วโบสถ์วิหารส่วนใหญ่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรีครับ แต่ที่นี่มีการเก็บบัตร ผ่านแสดงว่าข้างในต้องมีอะไรที่พิเศษจริง ๆ น่าเสียดายว่าไม่มีเวลาเดินเตร็ดเตร่กันอีกแล้ว พอถ่ายรูปกับหอเอนเสร็จก็พากันเดินฉับ ๆ กลับสถานีกันเลย
       ที่สถานีรถไฟปิซ่าเห็นมีเคาท์เตอร์แลกเงินตั้งอยู่เช่นกัน ด้านข้างมีบอร์ดแสดงอัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมแลกเช็คแปะไว้ ผมเดินเข้าไปดูอีกครั้งเพราะยังค้างคาใจเรื่องค่าธรรมเนียมที่เสียไปเมื่อวันก่อน สรุปก็คือถ้าหากเป็นเคาท์เตอร์ลักษณะนี้หรือตามโรงแรมที่รับแลก ถ้าไม่จำเป็นหัวเด็ดตีนขาด
ยังไงก็ไม่ขอแนะนำให้แลกครับ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนยังไม่เท่าไหร่ แต่ค่าธรรมเนียมน 18 เปอร์เซ็นต์นี่สิครับ เท่ากับดอกเบี้ยบัตรเครดิตบ้านเราที้งปีเลยทีเดียว
       วันนี้กว่าจะกลับถึงโรมก็มืดค่ำ ผมอยู่ที่นี่สี่วันจนเริ่มรู้สึกคุ้นกับสถานที่แล้ว ด้วยความคิดถึงบ้านเลยบอกให้เพื่อนแยกกลับไปก่อน โดยตัวเองขออยู่เล่นอินเตอร์เน็ตต่อสักพักตามร้านแถวนั้น ค่าอินเตอร์เน็ตชั่วโมงละ 1 ยูโร แต่ต้องวางพาสปอร์ตไว้ที่แคชเชียร์ เพื่อความไม่ประมาทเลยเลือกนั่งโต๊ะที่ใกล้ที่สุด ไม่รู้ว่าเขาจะเอาพาสปอร์ตเราไปทำอะไรมั่ง หลังจากได้ส่งข่าวกลับบ้านและแช็ตกับเพื่อนจนหนำใจแล้วจึงกลับไปนอน
       ระหว่างที่ยืนรอรถไฟใต้ดินอยู่ในสถานีนั้นเอง ก็มีผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาถามทางกับผมด้วยภาษาอิตาเลียน พร้อมกับทำมือไม้ชี้ไปที่ราง เดาดูแกคงจะถามประมาณว่ารถไฟสายนี้จะไปไหนหรืออะไรทำนองนั้น ผมเลยยิ้มพร้อมกับชี้ไปที่ป้ายที่บอกชื่อสถานีปลายทางให้ พอตอบเสร็จแกก็ทำหน้าเอ้ออ้อเหมือนจะรู้เรื่องพูดขอบคุณแล้วก็เดินจากไป
       นี่สงสัยผมคงจะอยู่นานเกินไปจนดูกลืนกับคนที่นี่ไปแล้วมั้งครับ ไม่งั้นคงจะไม่มีคนแปลกหน้าเดินดุ่มเข้ามาถามทางแบบนี้ นึกกระหยิ่มอยู่ในใจแล้วก็ให้เสียดาย พรุ่งนี้แล้วสิครับที่ต้องเดินทางต่อ เจ็ดวันในอิตาลีช่างครบรสเสียจนไม่อยากจากไปไหน พรุ่งนี้จะต้องขึ้นเครื่องไปสเปนกันต่อแล้วครับ โดยเรานัดเพื่อนคนไทยอีกสามคนให้ไปเจอกันที่นั่น แล้วบทหน้ามาคุยกันต่อด้วยเรื่องของสเปนนะครับ  มาดูกันซิว่าคนสเปนกับอิตาเลียนคล้ายหรือต่างกันอย่างไรบ้าง