"There is no pain in life so cruel as to be blind in Granada." "ไม่มีความเจ็บปวดใดอีกแล้วในชีวิตที่จะแย่ยิ่งกว่าการตาบอดในแกรนาดา" คำกล่าวอ้างที่จารึกไว้บนกำแพงวังแห่งนี้ ดูไม่เกินจริงเลยในทางโลกสำหรับมนุษย์ปุถุชนธรรมดาอย่างพวกเรานะครับ มนุษย์กิเลสหนาผู้ที่ยังยึดติดกับรูปสัมผัสอยู่ สำหรับคนที่ตาบอดแต่กำเนิดคงจะไม่เท่าไหร่ แต่หากเกิดและเติบโตมาในที่แห่งนี้ แล้วต้องโชคร้ายตาบอดในภายหลัง ก็คงยากที่จะทำใจได้
ทิวทัศน์ของเมืองแกรนาดา เมื่อมองลงมาจากพระราชวังอัลฮัมบรา
"There is no worse than to be lost in Granada with a stupid GPS" คุณแม่เล่นพวกเราอีกแล้วครับ หลังจากที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งตั้งครึ่งค่อนวัน ขับฝ่าเนินเขาและดงสวนมะกอกลูกแล้วลูกเล่า กว่าจะมาถึงแกรนาดาได้ก็เล่นเอาเหนื่อยและเพลียไปหมด พวกพี่ ๆ คงไม่เท่าไหร่หรอกครับ เพราะกลางทางได้แวะทานอาหารกลางวันกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนผมไม่ได้ทานอะไรกับเขาเลย(อาหารไม่ถูกปากอีกแล้ว) ระหว่างที่รอเลยเดินไปดูสวนมะกอกแถวนั้น หมายจะเก็บลูกมันมาแทะเล่นประทังหิวเสียหน่อย แต่พอลองเด็ดจากต้นมากัดดู โอ้โห...รสชาติฝาดปนขมบอกไม่ถูก
ทีมงานและรถคู่ใจ ขณะจอดพักดูสวนมะกอกระหว่างทาง
ผู้คนแถบนี้เขาปลูกมะกอกกันเป็นล่ำเป็นสัน ชนิดที่ว่าแทบจะไม่สามารถหาพืชผักหรือไม้ผลชนิดอื่นได้เลยหล่ะครับ เห็นเขาบอกว่าพืชที่สามารถขึ้นได้ดีในสภาพดินและอากาศแบบนี้ ก็เห็นจะมีแต่มะกอกเท่านั้น โชคดีเป็นของเขาไปนะครับ ที่น้ำมันมะกอกสามารถทำราคาได้ แล้วก็มีตลาดรองรับใหญ่ ๆ อยู่ทั่วโลก ชาวสวนมะกอกเลยไม่ต้องคอยปวดหัวกับนโยบายรับจำนำหรือประกันราคา ที่คอยสับเปลี่ยนไปมาตามอารมณ์รัฐบาลเหมือนกับบ้านเรา แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเกิดสงครามขึ้นมา หรือเกิดภัยพิบัตข้าวยากหมากแพงจะหาอะไรกินได้หนอ จะให้แบกเสียมเข้าป่าหาเผือก,กลอยหรือหน่อไม้นั้น คงจะเป็นอะไรที่ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะคิด
แล้วเราก็หลงทางเป็นรอบที่ร้อยแปด เสียเงินเช่าคุณแม่มาคงเพื่อเป็นเพื่อนแก้เหงาเท่านั้น สุดท้ายก็ต้องใช้ระบบดั้งเดิมที่สุดนั่นคือจอดรถถามทางเอา แต่มันก็เหนื่อยตรงที่หาคนพูดภาษาอังกฤษได้ยากเต็มทีอีกนั่นแหล่ะครับ สุดท้ายแล้วก็หาโรงแรมเจอจนได้แต่อุปสรรคก็ยังไม่หมดไป โรงแรมเจ้ากรรมดันอยู่ตั้งชั้น 5 แล้วลิฟท์ก็เสียอีกแล้ว(โรงแรมชั้น 5 กับลิฟท์เสีย ทริปนี้เจอสองรอบแล้วครับ) กว่าจะลากกระเป๋าขึ้นไปได้หมดก็เล่นเอาหืดจับกันเลยทีเดียว
ร้านรวงและบ้านเรือนในแกรนาดายามค่ำคืน
เย็นนี้เป็นโปรแกรมชมเมืองแบบผ่าน ๆ ครับ แล้วพวกพี่ ๆ ก็พากันไปดินเนอร์กันที่ร้านอาหารเชิงเขาข้างพระราชวัง ผมเองก็ไปด้วยแต่ไม่อยากทานเลยแยกไปเดินเล่นและถ่ายรูปอยู่แถวนั้น เสร็จแล้วจึงเดินกันต่อเป็นการย่อยอีกซักพักแล้วจึงกลับห้องแยกย้ายไปนอน
แกรนาดา(Granada) เป็นเมืองหลวงและที่มั่นของมัวร์แห่งสุดท้ายในภูมิภาคนี้ครับ แคว้นอันดาลูเซียถูกปกครองโดยแขกมัวร์อยู่นานร่วม 780 ปี หลังจากที่โดนสเปนปิดล้อมอยู่แรมปี สุดท้ายสุลต่านมัวร์โบอับดิลแห่งราชวงศ์นาสริดส์(Nasrids)จึงยอมจำนนเปิดประตูและมอบกุญแจเมืองให้แต่โดยดี
วิวเมืองอีกด้านหนึ่งจากพระราชวังอัลฮัมบรา อาคารหลังใหญ่สุดที่เห็นคือมหาวิหารแห่งแกรนาดา
คำว่าแกรนาดาเป็นภาษาอาหรับแปลว่า "สวนทับทิม" บ้านเรือนที่นี่เน้นทาสีขาวปลูกลดหลั่นกันไปตามไหล่เขา พวกเราเดินผ่านไปยังย่านหนึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นแหล่งของพวกศิลปิน เพราะตามผนังตึกและกำแพงเต็มไปด้วยภาพกราฟฟิตี้ ฝีมือในการพ่นนั้นต้องถือว่าระดับมืออาชีพเลยหล่ะครับ ผลงานที่ได้จึงมีความเป็นศิลปสูงและดูไม่รกหูรกตาเหมือนที่เคยเห็นตามเมืองอื่น ๆ
ภาพกราฟฟิตี้สวย ๆ ข้างทาง
วันถัดมาเรารีบขึ้นรถเมล์เพื่อไปเที่ยวพระราชวังอัลฮัมบรา(Alhambra)กันแต่เช้าตรู่ พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่บนเนินเขายอดตัดสัญฐานคล้ายเรือเดินสมุทร โครงสร้างหลักของอาคารทั้งหมดสร้างจากอิฐและหินสีแดง คำว่า "อัลฮัมบรา" เป็นภาษาอาหรับแปลว่าสิ่งที่มีสีแดง ดังนั้นชื่อของพระราชวังถ้าจะให้สละสลวยก็น่าจะแปลได้ว่า "ประสาทสีแดง" ถึงตอนนี้อยากจะเตือนทุกท่านเรื่องตั๋วนิดหน่อยนะครับ เหตุเพราะว่าพระราชวังแห่งนี้เปิดให้เข้าชมเป็นรอบ แต่ละรอบจำกัดจำนวนคนได้แค่หลักร้อย ดังนั้นควรจะเผื่อเวลาซักนิดนึงสำหรับซื้อตั๋ว หรือลองติดต่อสอบถามผ่านทางเคาท์เตอร์โรงแรมหรืออินฟอร์เมชั่นล่วงหน้า อย่างตอนที่ผมไปคราวนั้นขนาดว่าออกกันแต่เช้าแล้วนะครับ ยังเกือบพลาดได้ตั๋วรอบตั้งบ่ายสี่โมง แถมยังต้องยืนต่อคิวนานเป็นชั่วโมงอีกต่างหาก ดีว่าไปกันเองเลยรอได้ หลังจากได้ตั๋วเสร็จเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเราเลยพากันไปเดินเล่นในเมืองก่อน

เรานั่งรถเมล์ลงเขาไปตั้งหลักกันที่กลางเมือง ยังจุดอันเป็นที่ตั้งของมหาวิหารแห่งแกรนาดา ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดค่าโดยสารจะตกอยู่ที่คนละ 1 ยูโรตลอดสาย เส้นทางหลักที่รถวิ่งรับส่งขึ้นลงเขาค่อนข้างแคบและชัน แต่ถึงกระนั้นก็ให้ความรู้สึกตื่นเต้นดีครับ ที่คงจะตื่นเต้นมากกว่าก็น่าจะเป็นบ้านเรือนแถวนั้น ไม่รู้ว่าวันดีคืนดีรถจะร่วงใส่หลังคาบ้านเมื่อไหร่
ที่มหาวิหารแห่งนี้ต้องเสียค่าเข้าชมครับ ภายในนอกจากโถงหลักแล้วยังแบ่งเป็นห้องอีกหลายส่วน รวมทั้งพิพิธภัณธ์ขนาดเล็กที่จัดแสดงเครื่องบูชาและสัมบัติของราชวงศ์ อีกทั้งในบริเวณใกล้กันยังเป็นที่ตั้งของสุสานหลวง ซึ่งเป็นที่เก็บพระศพของพระราชินีอิซเบลล่าและกษัตริย์เฟอร์ดินานด์อีกด้วยครับ ดูเหมือนว่าทั้งสองพระองค์นี้จะมีคุณูปการใหญ่หลวงแก่แผ่นดินสเปนในยุคทองที่สุด เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนเป็นต้องมีสิ่งเชื่อมโยงถึงพวกท่านตั้งอยู่
การตกแต่งภายในมหาวิหารแห่งแกรนาดาเน้นโทนขาว
น่าเสียดายที่พระนางเป็นคนเคร่งศาสนาเกินไป หลังจากรวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นได้แล้วจึงมีพระราชดำริให้ก่อตั้งศาลศาสนาขึ้น วัตถุประสงค์ก็เพื่อกำจัดมุสลิม,ยิวและพวกนอกรีตให้หมดไป อันเป็นการเปิดฉากยุคมืดของการเข่นฆ่าและทรมานที่แสนยาวนาน หลังจากนั้นมาด้วยเหตุและปัจจัยอีกหลายอย่าง ก็ได้มีส่วนทำให้สเปนเข้าสู่ยุคเสื่อมถอยลงเป็นลำดับ
ด้วยความมั่งคั่งจากเงินทองที่ขูดรีดมาจากแผ่นดินในอาณานิคม ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นส่วนหนึ่งหมดไปกับการใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างระดับเมกะโปรเจคส์ ประกอบกับการแพ้สงครามระหว่างประเทศอีกหลายครั้ง สงครามที่สเปนก่อขึ้นโดยอ้างว่าทำเพื่อพระศาสนา ซึ่งก็ได้ผลาญเงินไปจนเกือบหมดท้องพระคลังหลวง ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ กำลังตื่นตัวกับการเพิ่มผลผลิตในยุคพัฒนาอุตสาหกรรม แต่สเปนกลับจมปลักอยู่กับความหรูหราฟุ้งเฟ้อด้วยสินค้าที่นำเข้าจากทั่วโลก ข้อผิดพลาดอีกอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญนัก แต่ก็กลับมีผลโดยตรงต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือการเนรเทศชาวยิวซึ่งเป็นพ่อค้าและนักการธนาคาร ผู้ซึ่งกุมบังเหียนหลักส่วนใหญ่ในทางธุรกิจออกไปจากประเทศจนเกือบหมด ส่งผลให้สเปนเริ่มซวนเซนับจากนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ไงครับ
แท่นบูชาและออแกนขนาดใหญ่เป็นสีทองสุกปลั่ง
มหาวิหารแห่งแกรนาดานี้ นับได้ว่าเป็นโบสถ์คริสต์ที่มีความงดงามลงตัวที่สุด เท่าที่เคยเห็นมาในสเปนครับ การตกแต่งทั้งภายนอกภายในเป็นแบบเรอเนสซองส์ ที่ดูโอ่อ่าปราณีตแต่ก็ไม่รกรุงรังจนเกินไปนัก โครงสีหลักคือสีขาวแล้วตัดด้วยสีทองอร่ามของแท่นบูชา ที่ช่วยขับเน้นให้บรรยากาศข้างในดูสว่าง,สงบและมลังเมลืองน่าเลื่อมใสอยู่ในที เสียดายว่าพวกเรามีเวลากันไม่มากนัก ยังดูได้ไม่ทั่วถึงก็ต้องรีบไปกันต่อแล้วหล่ะครับ
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องด้วยรอบการเข้าชมพระราชวังอัลฮัมบรานั่นเอง ซึ่งถ้าหากว่าไปสายเกินกำหนดเวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเป็นอันโดนตัดสิทธิ์ ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเข้าใจนักว่าทำไมพระราชวังแห่งนี้ถึงเล่นตัวนักหนา ต่อเมื่อได้เข้าชมข้างในแล้วถึงค่อยเข้าใจดังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ครับ
พระราชวังอัลฮัมบราเมื่อมองจากเนินเขาด้านหลัง
แรกเริ่มทีเดียวที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นป้อมปราการก่อน ด้วยชัยภูมิที่ตั้งอยู่บนเนินสูงล้อมรอบด้วยหุบเขาและโตรกธาร อันเป็นแนวป้องกันทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ภายหลังสุลต่านมัวร์แห่งราชวงศ์นาสริดส์จึงค่อย ๆ ต่อเติมป้อมปราการแห่งนี้ให้เป็นพระราชวังขึ้น ลักษณะของอาคารแต่ละส่วนจึงเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมที่วางซ้อน ๆ กันออกไป ความสวยงามในทางโครงสร้างแล้วดูธรรมดามากครับ หากนำไปเทียบกับสถาปัตยกรรมยุโรปที่ดูซับซ้อนกว่ามาก สิ่งที่เหนือชั้นกว่าคือรายละเอียดอ่อนช้อยของลวดลายที่ตกแต่ง อย่างที่เคยบอกไปว่าหลักศาสนาอิสลามห้ามใช้รูปคนและสัตว์มาเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นลวดลายจึงเน้นไปทางเลขาคณิต,เครือเถาดอกใบ แล้วก็ตัวอักษรบทสวดจากในพระคัมภีร์ครับ
การประดับตกแต่งอย่างละเอียดบรรจงภายในพระราชวังนาซารีส์
แต่ละห้องที่วางตำแหน่งซ้อน ๆ กันไป มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดตั้งแต่พื้นจรดเพดาน นั่นคือสาเหตุที่เขาต้องจำกัดการเข้าชมเป็นรอบ ๆ ไงครับ เพราะถ้าขืนปล่อยให้เข้าไปทีเดียว ฝูงชนคงแออัดยัดทะนานกันในนั้นจนของเขาพังหมดแน่ ๆ ท้องพระโรงแต่ละห้องมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะ แต่ที่ผมจำได้แม่นสุดก็คือห้อง'ทูตานุทูต'ครับ เพราะท้องพระโรงห้องนี้นี่เองที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระนางอิสเบลล่า เพื่อทูลขอให้ทรงช่วยอุปถัมภ์ทุนรอนในการสำรวจโลกใหม่ นอกจากท้องพระโรงอันแสนงดงามแล้ว ภายในยังมีลานน้ำพุแทรกอยู่ระหว่างหมู่ตำหนักอีกด้วยครับ เท่าที่จำได้ก็มีลานสระไม้หอม ซึ้งตั้งชื่อตามต้นไม้ที่ปลูกล้อมรอบสระนั้นที่มีกลิ่นหอม แล้วก็ลานน้ำพุสิงห์โต ที่ตอนนี้ตัวน้ำพุและสิงห์โตได้อันตรธานหายเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ผมเข้าใจว่าคงจะมีการทำของใหม่มาทดแทนให้ในเร็ววันนี้ครับ
การตกแต่งภายในพระราชวังนาซารีส์เน้นความละเอียดบรรจงของลวดลายที่ซับซ้อน
ส่วนที่จำกัดการเข้าชมจริง ๆ ก็คือแค่ส่วนที่เรียกว่าพระราชวังนาซารีส์(Palacios Nazaries)เท่านั้นครับ แต่นอกเหนือจากนั้นไม่ว่าจะเป็นวังพระเจ้าคาร์ลอสที่ 5 (Palacio de CARLOS V) ที่สร้างอยู่ติดกัน แล้วก็พระราชวังฤดูร้อนเฆเนราลีเฟ(Generalife)นั้นสามารถเดินเข้าเดินออกได้ตามอัธยาศัยครับ
จุดเด่นของพระราชวังอัลฮัมบราแห่งนี้อีกอย่างก็คือระบบน้ำครับ ด้วยความที่ตั้งอยู่บนที่สูง แต่ชาวมัวร์สามารถทดน้ำจากแหล่งเข้าไปเก็บไว้ใช้บนนั้นได้ โดยในส่วนฐานของป้อมปราการด้านหน้ามีการสร้างแทงค์น้ำขนาดใหญ่คอยเก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดปี ดังนั้นลานน้ำพุและสระน้ำตามสวนต่าง ๆ จึงมีน้ำให้ใช้ได้อย่างเหลือเฟือ
พระราชวังฤดูร้อนเฆเนราลีเฟ
เสร็จจากดูสวนดูวังจนหนำใจแล้วจึงพากันกลับลงมา โดยตอนขากลับเราเลือกวิธีเดินลงกันครับเพื่อจะได้ดูเมืองไปด้วย ระหว่างทางพวกพี่เขาแวะทานอาหารในร้านท้องถิ่น ส่วนตัวผมไม่กล้าเสี่ยงเลยขอแยกมาทานแมคโดนัลด์คนเดียว ระหว่างที่กำลังนั่นกินอยู่นั่นเองก็มีหญิงสาวคนหนึ่งเข้ามาคุยด้วย ในตอนแรกเข้าใจว่าเธอจะมาขอเงิน แต่กลับกลายเป็นว่ามาขอสลิปค่าอาหารต่างหาก ด้วยความแปลกใจก็เลยถามไปว่าจะเอาไปทำอะไร
เธอบอกว่ามาจากบราซิลครับ ทางบริษัทส่งมาทำธุระอะไรซักอย่าง ในส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของที่นี่เธอต้องสำรองจ่ายเองหมด มีทั้งค่ารถ,ค่าอาหารและที่พักซึ่งก็หนักหนาสำหรับเธอพอควร แล้วหนำซ้ำบางทีตอนนั่งแท็คซี่เขาก็ไม่ออกใบเสร็จให้ด้วย เธอเลยอยากจะขอใบเสร็จค่าข้าวเราเอาไปเบิกบริษัทเพิ่มเท่านั้นเองครับ
ได้ฟังอย่างนี้แล้วก็เห็นใจเธอครับ บราซิลกับบ้านเรารายได้ต่อหัวก็พอกัน บิลค่าอาหารเล็กน้อยแค่นี้ ยกให้เธอไปก็คงจะไม่ถือเป็นการช่วยเธอคอรัปชั่นอะไรนัก ถ้าหากหวังจะรวยทางนี้เธอคงไปหาคุ้ยเอาตามถังขยะ ดูน่าจะได้เย๊อะเป็นกอบเป็นกำกว่า คุยเสร็จแล้วผมก็เลยยื่นสลิปให้เธอไปด้วยความรู้สึกอิ่มใจนิด ๆ ที่อย่างน้อยก็ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันคนหนึ่งแล้วในวันนี้
สวนในพระราชวังฤดูร้อนเฆเนราลีเฟ
พรุ่งนี้ยังเหลืออีกเมืองครับสำหรับทริปนี้ การเดินทางครั้งแรกมักมีเรื่องราวน่าประทับใจให้เราได้จดจำเสมอ เอาเป็นว่าบทหน้ามาว่ากันต่อในบทส่งท้ายกันนะครับ ด้วยเมืองเล็ก ๆ แต่เปี่ยมไปด้วยสเน่ห์มากมายอย่างรอนดา สำหรับคนที่ชอบความสูง ความเสียว และกีฬาสู้วัวกระทิงไม่น่าพลาดนะครับ ขอบคุณครับ