อยู่ ๆ ก่อนเดินทางได้ซัก 2-3 วัน ก็มีสายเรียกเข้าจากเบอร์แปลกยาวเฟื้อย บ่งบอกให้รู้ว่าต้องเป็นเบอร์ทางไกลมาจากต่างแดนแน่ ๆ เสียงตามสายเป็นผู้ชายพูดภาษาอังกฤษสำเนียงแขกจ๋า แจ้งเหตุว่าเที่ยวบินจากอิสตันบูลไปยังเนเปิลส์ประเทศอิตาลี ไฟลต์เดียวกันกับที่พวกเราทำการสำรองที่นั่งเอาไว้ มีเหตุจำเป็นต้องล่าช้าไปอีกสี่สิบกว่านาที จึงต้องโทรมาแจ้งและอยากจะทราบว่าทางเราจะขัดข้องประการใดไหม
แค่นี้ก็พอให้เคลิ้มแล้วหล่ะครับ ว่าทำไมเขาถึงช่างใส่ใจผู้โดยสารขนาดนี้ ส่วนเรื่องจะขัดข้องไม่ขัดข้องประการใดนั้น เราคงจะไม่มีปัญญาไปต่อรองอะไรเขาได้หรอกครับ ต่อให้ค้านหัวชนฝากันจนแทบล้มประดาตาย เขาก็คงจะไม่มีทางเลื่อนเวลากลับไปให้ตามเดิมได้ แค่พ่อคุณอุตส่าห์ลงทุนโทรศัพท์ข้ามทวีปมาเสียไกล เพื่อแจ้งเหตุด้วยเรื่องขี้ป่ะติ๋วเพียงแค่นี้ ไอ้ที่นึกเคือง ๆ อยู่ก็พลอยอันตรธานไปสิ้น แต่แรกก็นึกไม่พอใจอยู่นิดหน่อยเรื่องค่าโดยสาร ที่พวกเราจำต้องจ่ายเต็มอัตราทั้งที่ซื้อมาแบบเที่ยวต่อเที่ยว ไม่รู้ว่าสายการบินมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไรนะครับ ถึงได้ขายในอัตราเท่ากับตั๋วไป-กลับได้ โปรแกรมที่วางไว้ของพวกเราก็ดันเป็นแบบ One Round Trip เสียด้วยสิครับ (การเดินทางอ้อมไปเรื่อย ๆ จนกลับมาสิ้นสุดยังที่เดิมโดยไม่ย้อนทางเดิม) เมื่อไม่มีสิทธิ์ซื้อตั๋วในราคาเที่ยวเดียว ค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ของเราจึงต้องคูณสองไปเป็นทอด ๆ
แถวของพนักงานโรงแรมที่มาคอยรอรับนักท่องเที่ยวอยู่ที่สนามบิน
เมืองห่างไกลในดินแดนอันแปลกตา หลังจากผ่านพ้นพิธีการในด่านตรวจคนเข้าเมืองมาเรียบร้อยแล้ว ภาพแรกและด่านหน้าที่ชวนตะลึงลานก็คือ แถวของพนักงานจากโรงแรมหรือเกสต์เฮ้าส์นับร้อยนับพัน ที่มาคอยชูแผ่นป้ายรอรับแขกของตน ต่างคนต่างยืนเบียดเรียงรายอยู่แน่นตลอดแนวทางเดินที่สนามบินจัดไว้ให้ แต่ละคนตะโกนโหวกเหวกขานชื่อแขกแข่งกันเซ็งแซ่ ส่วนพวกเราถึงไม่ได้นัดใครไว้แต่ก็อดที่จะตื่นเต้นไปกับเขาไม่ได้ ผู้คนเบียดเสียดยัดเยียดกันมากขนาดนี้ กว่าจะหากันเจอคงเล่นเอาเหนื่อยตาลายกันไปทั้งสองฝ่าย
สนามบินประจำชาติแห่งนี้ชื่อว่าสนามบินอตาร์เติร์ก(Ataturk Airport) ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพอ ๆ กับสุวรรณภูมิ คณะของเราจึงตัดสินใจเรียกใช้บริการรถลีมูซีนของเอกชนแถวนั้น อัตราค่าบริการแบบเหมาตกอยู่ราว 50 ยูโรต่อคัน ซึ่งถ้าหากไม่คูณกลับเป็นเงินบาทก็นับว่าไม่แพงมากนัก และแล้วรถก็พาเราลัดเลาะเลียบชายฝั่งทะเลเข้าสู่ใจกลางเมือง
สภาพถนนซอกเล็กซอยน้อยในเมืองที่แคบและวกวน
มัสยิสถ์สีฟ้ายามค่ำ
ค่ำคืนในอิสตันบูลช่วงต้นฤดูใบไม้ผลินับว่าหนาวเหน็บสำหรับคนไทย(ปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม) อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ราวสิบกว่าองศา หรือบางทีอาจจะต่ำกว่านั้นในบางช่วง ยังไงก็อย่าลืมเตรียมอุปกรณ์กันหนาวไปให้พร้อมด้วยนะครับ
คืนแรกของทริปเราออกเดินเล่นสำรวจใกล้ ๆ ที่พักกันก่อน ร้านค้าแถบนี้เป็นร้านอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวเสียเป็นส่วนมาก มีพนักงานบริกรชายออกมายืนคอยเรียกลูกค้าหน้าร้านกันสลอนไปทั้งแถบ วิธีเรียกของเขาก็ถึงเนื้อถึงตัวดีเหลือเกินครับ กล่าวคือหากใครแปลกหน้าเดินพลัดหลงเฉียดผ่านเข้ามา เขาก็จะจับมือจับแขนทักทายชวนเข้าไปนั่งในร้านกันเลย ซึ่งใหม่ ๆ พวกเราก็เห็นว่าแปลกและเพลินดีเหมือนกันครับ เขาทำราวกับว่าสนิทสนมคุ้นเคยกับเราเป็นอย่างดี แต่พอบ่อยเข้าก็ชักเริ่มรู้สึกเหนื่อยและรำคาญขึ้นมาตงิด ๆ จนเมื่อรู้สึกหิวกันขึ้นมาจริง ๆ เลยพาลชวนกันเดินเลี่ยงไปทานในร้านเงียบ ๆ ธรรมดาซึ่งดูจะสะดวกใจกว่า อาหารหลักของที่นี่เน้นเนื้อสัตว์ปิ้งย่างแบบทางยุโรป แต่รสชาติหนักไปทางเครื่องเทศเหมือนทางตะวันออกกลางมากกว่า นอกจากนั้นเขายังมีเครื่องปรุงพวกพริกดองพริกป่นไว้ให้ลูกค้าเลือกเติมได้ตามอัธยาศัยอีกด้วยครับ
วิหารอาเกียโซเฟียยามค่ำ
โปรแกรมในเช้าวันแรกเริ่มต้นด้วยวิหารฮาเกียโซเฟีย (Hagia Sophia) ซึ่งเป็นไฮไลต์หลักอันดับแรกที่ต้องชม บัตรผ่านประตูราคา 25 ลีลาร์(1 ลีลาร์เท่ากับ 18 บาทโดยประมาณ) คิดเป็นเงินไทยก็ตกอยู่ที่ราว 450 บาท สถานที่แห่งนี้เดิมทีชาวโรมันไบแซนไทน์เป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาคริสต์เมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ภายหลังอาณาจักรถูกรุกรานและครอบครองโดยพวกเติร์กซึ่งเป็นมุสลิม วิหารแห่งนี้จึงถูกดัดแปลงให้กลายสภาพเป็นมัสยิสถ์ ภาพกระเบื้องโมเสก (Mosaic) อันล้ำค่าที่ประดับประดาอยูภายใน จึงต้องถูกฉาบด้วยปูนขาวแล้วทาสีเขียนลายแบบอิสลามทับเอาไว้ จนเมื่อประมาณเก้าสิบกว่าปีมานี่เองครับ เมื่อสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาเยือนประเทศตุรกี งานคริสตศิลป์อันล้ำค่าจึงได้อวดโฉมสู่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง
ความสูงใหญ่ของโถงกลางวิหารฮาเกียโซเฟียเมื่อเทียบขนาดกับคนตัวเล็ก ๆ ที่เดินอยู่ข้างล่าง
ภาพโมเสกสีทองอร่าม ที่หลงเหลือมาจากยุคไบแซนไทน์
หลังคาโดมกลางขนาดใหญ่
ลักษณะเด่นอีกอย่างของวิหารแห่งนี้ก็คือ หลังคาโดมขนาดใหญ่ซึ่งมีความกว้างถึง 30 เมตร แม้แต่มัสยิสถ์สีฟ้าของสุลต่านอาห์เมต ที่พยายามทำเลียนแบบด้วยเทคโนโลยีในยุคหลัง ก็ไม่อาจสร้างให้ใหญ่โตไปกว่าได้ แล้วก็ยังมีเรื่องแปลกของเสาหินต้นหนึ่งในวิหาร ที่เขาบอกว่ามีน้ำซึมออกมาคล้ายกับเสาไม้เก่า ๆ ในบ้านเราที่ตกน้ำมัน เรื่องเสาต้นนี้พวกเราลืมไปเสียสนิทเลยหล่ะครับ เลยไม่ได้พากันไปพิสูจน์ว่ามันอยู่ตรงไหน ส่วนทางด้านผุ้เชี่ยวชาญเขาบอกว่า นั่นมันเป็นเรื่องของอุณหภูมิและความชื้นในอากาศเสียมากกว่า ที่จะเป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือปาฏิหารย์ใด ๆ เสียอีก
มัสยิสถ์สีฟ้า
หลังจากเสร็จสิ้นการเที่ยวชมวิหารฮาเกียโซเฟีย เราก็พากันเดินข้ามลานกว้างเพื่่อไปยังมัสยิสถ์สีฟ้าของสุลต่านอาห์เมตกันต่อ มัสยิสถ์แห่งนี้ตั้งประจันหน้ากันกับวิหารเหมือนจะข่มกันอยู่ในที ตัวมัสยิสถ์ถูกสร้างในยุคหลังนานหลายร้อยปี แต่ยังไงก็ไม่สามารถสร้างหลังคาโดมให้มีขนาดเท่าหรือใหญ่ไปกว่านี้ได้
ข่าวดีก็คือเขาเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติต่างศาสนาเข้าชมฟรีครับ แต่มีข้อแม้ว่าต้องแต่งกายให้เหมาะสมและถอดรองเท้าก่อนเข้า นอกจากนั้นเขายังมีบริการผ้าผืนใหญ่ให้คลุมไหล่หรือนุ่งแทนโสร่ง ในกรณีที่บางคนแต่งตัวโป๊หรือรัดรูปจนเกินไป ใส่เสื้อเปิดไหล่หรือท่อนล่างสั้นเหนือเข่า ส่วนรองเท้าหลังจากถอดแล้วเขาจะมีถุงพลาสติกแจกให้ใส่ถือเข้าไปได้เลยครับ
การตกแต่งภายในประดับประดาด้วยลวดลายเครือเถาแบบอิสลาม ดูสวยงาม สงบและเย็นตาในโทนสีฟ้าเทา สมกับชื่อเล่นที่เขาขนานนามให้ว่า Blue Mosque หรือมัสยิสถ์สีฟ้า ในส่วนของลานประกอบพิธีเขามีรั้วเตี้ย ๆ กั้นเอาไว้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวหรือคนต่างศาสนาเข้าไปยุ่มย่าม ซึ่งถ้ามองในแง่ดีก็คือช่วยให้สถานที่ดูโล่งและสงบเหมาะแก่การถ่ายภาพครับ ส่วนข้อเสียก็คือนักท่องเที่ยวจะพากันมาอออยู่เต็มหน้ารั้วไปหมด จนทำให้หาช่องแทรกเข้าไปยากอยู่สักหน่อย พอได้ช่องเบียดเข้าไปแล้วจะแช่อยู่นานก็ไม่ได้อีกหล่ะครับ เพราะคนข้างหลังเขาก็ยืนคอยชะเง้อหาจังหว่ะเบียดเข้ามาอีก เมื่อชมความงามและเก็บภาพกันเสร็จแล้วก็ต้องรีบออกเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นเขาได้ชื่นชมบ้างหล่ะครับ
ทางมัสยิสถ์เขาจัดทางออกไว้ให้อีกด้านหนึ่ง และที่ทางออกนี่เองจะมีโต๊ะเล็ก ๆ ให้เราร่วมบริจาคเงินตามจิตศรัทธาครับ งานนี้ไม่มีการบังคับ ใครอยากให้มากให้น้อยเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่ความสมัครใจ แต่ก็เห็นนักท่องเที่ยวหลาย ๆ คนเดินผ่านไปเฉย ๆ แบบไม่สนใจนะครับ ซึ่งทางเขาก็ไม่ได้เรียกร้องหรือป่าวประกาศอะไรให้ประเจิดประเจ้อ ผิดกับบางโบสถ์ในยุโรปที่เล่นตั้งโต๊ะให้กรรมการวัดนั่งขวางประตูทางออกเอาไว้เลย แถมยังทำช่องไว้นิดเดียวให้นักท่องเที่ยวเดินผ่านทีละคน เหมือนจะเป็นการบังคับและประจานกันกลาย ๆ ถ้าใครไม่ยอมให้
มีลานกว้างใหญ่หน้ามัสยิสถ์ชื่อว่าฮิปโปโดรม (Hippodrome) เดิมเป็นสนามแข่งรถม้าในยุคโรมัน นอกจากนั้นยังเป็นลานกิจกรรมสันทนาการหรือก่อเหตุจราจลในบางโอกาส ตรงกลางลานโดดเด่นด้วยเสาโอบิลิสต์จากอียิปต์ นอกจากนั้นยังมีเสาโคลัมน์รูปงูขดเกลียวศิลปกรีกซึ่งเหลือแค่โคนเสา แล้วก็เสาหินที่ทำเลียนแบบเสาโอบิลิสต์อีกหนึ่งต้น เสาโอบิลิสต์จากอียิปต์ของที่นี่ดูเตี้ยกว่าเสาอื่น ๆ ที่เราเคยเห็นกัน นั่นก็เพราะการแตกหักเสียหายระหว่างการขนส่งในอดีตนั่นเองครับ ส่วนเสารูปงูเกลียวที่เหลือแต่โคนนั้นเดิมทีส่วนยอดเป็นรูปหัวงูชูกระถางคบเพลิง แต่หลังจากผ่านเหตุจราจลใหญ่ในคราหนึ่ง ส่วนยอดของเสาถูกทำลายลงไป เหลือไว้แต่เพียงส่วนฐานคล้ายเชือกพันเกลียวอย่างที่เห็นครับ
ผมเห็นเกาลัดที่นี่ลูกใหญ่เนื้อแน่นขาวฟูน่ากินเชียวครับ แต่พอลองกัดเข้าไปคำแรกแล้วต้องรีบคายทิ้ง เพราะเนื้อในที่เห็นขาว ๆ อยู่นั่นมันยังดิบอยู่เลย เขาแค่เอาเม็ดเกาลัดมาวางทิ้งไว้บนแผ่นเหล็กร้อนที่สุมไฟไว้ข้างใต้ กลิ้งไปกลิ้งมาแค่พอให้เปลือกนอกไหม้เกรียมจนแตกออก เผยให้เห็นเนื้อในฟูฟ่องหลอกตานักท่องเที่ยว แต่เรื่องรสชาติไม่ต้องพูดถึงครับ สะอิดสะเอียนชวนคลื่นไส้ดีเหลือเกิน ส่วนแตงโมนั้นเพื่อนผมเป็นคนเสี่ยงซื้อมาลอง ถึงแม้รสชาติจะหวานฉ่ำใช้ได้ แต่คะเนด้วยสายตาคนไทยยังไงก็ไม่น่าจะเกินสามสิบบาท งานนี้โดนฟันไปเกือบสามร้อยสำหรับแตงโมแค่ชิ้นเดียว ก็ไม่รู้ว่าโดนแขกหลอกขายหรือเปล่านะครับ ส่วนข้าวโพดปิ้งไม่มีใครสนใจจะซื้อมาลองอีกเลย ต่างคนต่างหมดความสงสัยใคร่รู้กันแต่เพียงเท่านี้
ร้านค้าภายในตลาดแกรนด์บาร์ซาร์
จากบริเวณนี้ถ้าเราเดินตามป้ายและทางรถรางไปอีกซักประมาณยี่สิบกว่านาที ก็จะถึงตลาดใหญ่หรือแกรนด์บาร์ซาร์ (Grand Bazaar) อย่าลืมหาอะไรรองท้องก่อนเข้าไปเดินข้างในนะครับ เพราะแกรนด์บาร์ซาร์ที่ว่านี้มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก จับพลัดจับผลูอาจจะต้องเดินหิวตาลายหลงทางอยู่ข้างในก็เป็นได้ครับ
ของซื้อของขายในนั้นมีอยู่มากมายร้อยแปด ทั้งอัญมณี เครื่องกระเบื้อง เครื่องแก้ว เครื่องทองเหลือง เครื่องหนัง พรม หรือแม้แต่ของเก่า มีเรื่องเล่าสู่กันฟังสนุก ๆ ในบรรดาหมู่นักท่องเที่ยวด้วยกันว่า ถ้าคุณไม่คิดจะซื้ออะไรก็ขอให้เดินดูผ่าน ๆ ก็พอครับ อย่าเผลอแวะเข้าไปในร้านเด็ดขาด และที่สำคัญอย่ารับน้ำชามาดื่มนะครับ ร้านไหนร้านนั้นเขาจะมีวิธีกล่อมจนเราใจอ่อนหลงกลควักเงินซื้อจนได้ อีกอย่างการเสิร์ฟน้ำชาเป็นเหมือนสัญลักษณ์การปิดการขายของเขาเลยทีเดียว หากรับมาดื่มแล้วทำหน้าตาเฉยเดินเนียนออกมาอาจจะโดนเขาด่าไล่หลังได้ครับ
ถนนในย่านการค้าบริเวณภายนอกตลาดแกรนด์บาร์ซาร์และตลาดเครื่องเทศ
จากแกรนด์บาร์ซาร์ถ้าเดินย้อนกลับลงมาทางชายฝั่งจะเป็นที่ตั้งของตลาดเครื่องเทศ (Spice Bazaar) ที่นี่เขาเน้นขายเครื่องเทศตามชื่อตลาดครับ นอกจากนั้นยังมีของแห้งพวกผลไม้อบแห้งและถั่วประเภทต่าง ๆ ที่ขึ้นชื่อหน่อยก็คือผลอินทผลัมแห้งซึ่งมีหลายเกรดหลายราคา ถ้าอยากได้ราคาถูกหน่อยก็ลองเดินออกมาดูแถวร้านข้างนอกครับ
บริเวณนี้ยังเป็นถนนซอกเล็กซอยน้อยที่อุดมไปด้วยร้านค้าสไตล์แขก ๆ มากมาย มีตั้งแต่ของกินของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนกระทั่งเสื้อผ้าชุดแต่งงาน หรือแม้แต่ชุดเครื่องนอน(น่าจะสำหรับงานแต่งงานหรือขึ้นบ้านใหม่) ที่มีการประโคมเครื่องประดับตกแต่งเข้าไปจนดูรกรุงรังไปหมด เรียกได้ว่ามาเต็มทั้งเหงือกทั้งหงอนกันเลยทีเดียวหล่ะครับ ส่วนบริเวณด้านหน้าตลาดเป็นที่ตั้งของมัสยิสถ์ใหญ่และสวยอีกแห่งหนึ่งชื่อว่ามัสยิสถ์เยนิ(Yeni Mosque) มัสยิสถ์แห่งนี้ดูจากภายนอกก็คล้ายคลึงกับมัสยิสถ์สีฟ้าของสุลต่านอาห์เมตและอีกหลาย ๆ ที่ ซึ่งถ้าหากคุณมีเวลาก็สามารถเลือกเข้าชมได้ฟรีตามอัถยาศัยครับ
มัสยิสถ์ Yeni ยามค่ำ
เดินเลยออกมาอีกหน่อยจะถึงชายฝั่ง Golden Horn (เป็นส่วนต่อของทะเลที่ยื่นเข้าไปในแผ่นดิน คล้ายอ่าวแต่แคบและยาวกว่า) ที่นี่มีสะพานข้ามไปยังฝั่งเมืองใหม่ชื่อว่า Galata Bridge สะพานแห่งนี้นับเป็นจุดชมวิวที่เหมาะมากสำหรับการมานั่งชมทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและอาทิตย์ตกของทั้งสองฝั่งเลยหล่ะครับ ตัวสะพานมีสองชั้น ชั้นบนสำหรับยวดยานพาหนะและคนเดินเท้าใช้สัญจร ส่วนชั้นล่างเป็นพื้นที่ของร้านอาหารและภัตตาคารต่าง ๆ นอกจากนั้นบนสะพานยังเต็มไปด้วยนักตกปลาที่พากันมาหย่อนเบ็ดอยู่เต็มราวสะพาน หากคุณรู้สึกหิวเขาก็มีปลาเผาหรือแซนด์วิชปลาขายให้ในราคาย่อมเยาครับ ส่วนเรื่องความสดนั้นขอรับประกันได้เลยว่าตกตรงนี้ย่างขายมันตรงนี้เลยทีเดียว
นักตกปลาและเบ็ดตกปลาเรียงรายอยู่เต็มสะพาน Galata
ร้านอาหารที่เรียงรายอยู่ชั้นล่างของสะพาน Galata
อากาศคืนนี้ค่อนข้างหนาวมากสำหรับคนไทย ดังนั้นหลังทานอาหารค่ำพวกเราเลยพากันรีบกลับที่พัก สังเกตเห็นเด็กผู้ชายอายุประมาณสิบกว่าขวบคนหนึ่ง แกใส่แค่เสื้อยืดแขนสั้นบาง ๆ กับกางเกงขายาวเก่าซอมซ่อ มานั่งตัวสั่นตัวงอหลบลมหนาวอยู่ตรงเชิงบรรไดสะพาน ข้างตัวมีห่อกระดาษทิชชู่ห่อเล็ก ๆ ใหม่เอี่ยมวางไว้เหมือนจะวางขาย พวกเราเห็นแล้วก็ได้แต่นึกสังเวชในใจ คิดว่าถ้าโรงแรมอยู่ใกล้กว่านี้ อาจจะเดินไปหยิบเอาเสื้อที่พอจะใส่คลายหนาวได้กลับมาให้เขาซักตัว แต่ก็ได้แค่คิดครับเพราะโรงแรมอยู่ไกลจากบริเวณนี้มาก หากต้องเดินกลับมาอีกน่ากลัวว่าจะไม่ไหว เลยได้แค่คิดแล้วปล่อยน้องเขาไว้ตามยถากรรม
มัสยิสถ์ Suleymaneye บนเนินริมฝั่ง Golden Horn
โปรแกรมในเช้าวันที่สองเริ่มต้นด้วยพระราชวังทอปกาปึ (Topkapi Palace) ค่าเข้าชมก็คนละ 25 ลีลาร์อีกเช่นกันครับ การเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ควรพากันไปแต่เช้าตรู่ ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องคนเย๊อะและการต่อคิวที่ยาวเหยียดนั่นเอง ภายในพระราชวังแบ่งออกเป็นส่วน ๆ โดยถ้าจะเข้าชมพระราชฐานส่วนในหรือฮาเร็ม (Harem) ต้องซื้อบัตรแยกต่างหาก คณะของเราเลือกไม่เข้าชมฮาเร็ม เพราะเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างจากสารคดีท่องเที่ยวแล้วรู้สึกเฉย ๆ หัวใจหลักของพระราชวังแห่งนี้คือห้องท้องพระคลังต่างหากที่ล่อตาล่อใจกว่า ดังนั้นจึงไม่ขอเสียเงินเสียเวลาต่อคิวเข้าไปชมฮาเร็มกันหรอกครับ
ประตูสวยบานหนึ่งในพระราชวัง Topkapi
มีห้องโชว์เครื่องเพชรอยู่หลายห้อง แต่ละห้องต้องต่อแถวเข้าชมต่างหากเป็นเอกเทศ เสร็จจากห้องนี้ไปต่อที่ห้องนู้นไล่เรียงกันไปเป็นทอด ๆ เครื่องเพชรเครื่องทองที่จัดแสดงก็ช่างงดงามอลังการดีเหลือเกิน มีตั้งแต่ชิ้นใหญ่ ๆ อย่างบัลลังค์ทองคำประดับอัญมณี พระแสงกริซพระแสงดาบประดับอัญมณีเม็ดเป้ง ๆ เข็มกลัดอันใหญ่ยักษ์ประดับเพชรพลอยสำหรับผ้าโพกพระเศียร และยังมีมรกตเม็ดร่วงขนาดเท่าไข่นกไข่หนูอีกนับไม่ถ้วน ที่ยังไม่ได้เอาไปประกอบเป็นเครื่องประดับอะไร เขาเพียงแต่เอาใส่ชามใบเขื่องวางโชว์ไว้ในตู้เหมือนไม่มีค่า
ที่พลาดไม่ได้เลยก็คือเพชรเม็ดใหญ่ขนาด 86 กะรัต ที่มีชื่อว่าเพชรของช่างทำช้อนไงครับ เพชรเม็ดนี้มีประวัติความเป็นมาอันซับซ้อน เปลี่ยนมือกันไปมาหลายทอดเกือบครึ่งค่อนโลก จนสุดท้ายก็ได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของสุลต่านแห่งออตโตมันในที่สุด นอกจากนั้นยังมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ราชบรรณาการจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งของไทยด้วยนะครับ แต่ในวันที่ไปพวกเราเดินวนหาจนทั่วก็ไม่เจอ สงสัยเขาคงจะเก็บเข้ากรุแล้วเอาของชิ้นอื่นมาโชว์แทนแล้วหล่ะครับ
ห้องนั่งเล่นที่ตกแต่งอย่างงดงามและเรียบง่ายภายในพระราชวัง Topgapi
บริเวณภายในวังยังประกอบไปด้วยพระตำหนักใหญ่น้อย รวมทั้งห้องพักผ่อนศาลารายที่เน้นการตกแต่งเรียบง่ายในแบบอาหรับ และเนื่องจากพระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่สุดปลายแหลมของแผ่นดิน ถูกโอบล้อมด้วยทะเลถึงสามด้าน นอกจากจะทำให้สดชื่นไปด้วยลมทะเลตลอดเวลาแล้ว ทัศนวิสัยรอบด้านยังเปิดโล่งเกือบ 360 องศาเลยทีเดียวครับ
เสร็จจากเที่ยววังแล้วก็มาต่อกันด้วยการนั่งรถชมเมือง บริเวณลานด้านหน้าวิหารอาเกียโซเฟียมีรถบัสสองชั้นสำหรับนักท่องเที่ยวให้บริการอยู่หลายเจ้า สนนราคาอาจจะไม่ต่างกันมากนักส่วนเส้นทางมีต่างกันบ้างนิดหน่อย คณะเราเลือกหนึ่งในนั้นที่ให้ข้อเสนอหรือส่วนลดที่ดีที่สุด หากคิดจะนั่งและไปกันหลายคนแล้วหล่ะก็ อย่าลืมต่อรองเรื่องราคากันด้วยนะครับ ตั๋วปกติราคาคนละ 19 ยูโร แต่พวกเราไปกันสามคนเขาคิดเหมาให้เหลือ 45 ยูไร ทำให้ช่วยประหยัดเงินไปได้อีกโข ตั๋วมีอายุ 24 ชั่วโมง ดังนั้นในวันถัดไปเราจึงกลับมานั่งต่อได้อีกจนถึงก่อนเวลาที่เขาประทับตราเอาไว้
ผู้คนเดินขวักไขว่บนถนน Istiklal Avenue
รถออกทุกประมาณครึ่งชั่วโมงครับ บนรถมีช่องเสียบหูฟังและเสียงบรรยายแปดชาติแปดภาษา
(แน่นอนครับว่าไม่มีภาษาไทย) มีจุดจอดทั้งหมดไม่ต่ำกว่าสิบจุดตลอดเส้นทาง แต่ถ้าไม่มีคนขึ้นหรือลงเขาก็จะขับผ่านไปเฉย ๆ หลังจากนั่งรถข้ามสะพานไปยังฝั่งเมืองใหม่ จุดแรกที่พวกเราเลือกลงคือบริเวณ (Taksim Square) เพื่อแวะทานข้าวกลางวันแล้วก็พากันเดินย้อนกลับมาขึ้นหอคอย Galata อันเป็นไฮไลต์หลักของบริเวณนี้
ถนนที่เชื่อม Taksim Square กับ Galata Tower ชื่อว่า Istiklal Avenue เป็นย่านช็อปปิ้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแฟชั่น โดยส่วนมากจะเน้นแบรนด์เนมครับ ตัวตึกเป็นสไตล์ยุโรปสูงใหญ่ ถนนเส้นนี้มีเพียงรถรางเก่า ๆ ที่เขาอนุรักษณ์เอาไว้วิ่งผ่าน ส่วนยานพาหนะชนิดอื่นเหมือนจะไม่อนุญาติให้วิ่งนะครับ ดังนั้นจึงมีวัยรุ่นชาวตุรกีมาเดินเล่นเพื่อซื้อของหรือโชว์ตัวกันมากมายเต็มไปหมด
Galata Tower ตั้งอยู่บนเนินในฝั่งเมืองใหม่
เมื่อเดินตามทางมาจนสุดเกือบจะถึงชายฝั่ง Golden Horn จะเป็นที่ตั้งของหอคอยหรือป้อมชื่อว่า Galata Tower จ่ายค่าเข้าเพียงนิดหน่อยก็สามารถขึ้นลิฟท์ไปยังชั้นบนสุดได้เลยครับ ไม่ต้องเสียเวลาเปลืองแรงเดินขึ้นบรรไดไป จากบนป้อมเราสามารถมองเห็นทัศนวิสัยได้กว้างไกลเต็มตา 360 องศาเลยทีเดียว
หลังลงจากป้อมเราก็พากันเดินย้อนกลับมาขึ้นรถ ณ จุดเดิมตรง Taksim Square เพื่อลองนั่งรถให้เต็มรอบเมืองดูสักรอบ การจราจรเหมือนจะติดขัดทุกเวลา ดังนั้นกว่าจะผ่านไปได้แต่ละช่วงร้อยเมตรต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่แค่นี้ถือว่าเบาะ ๆ ครับ สำหรับพวกเราและคนไทยส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยกับการจราจรติดขัดกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกอึดอัดใจมากกว่าก็คือมารยาทในการขับรถของเขา คำว่าน้ำใจบนท้องถนนนั้นหายากกว่าบ้านเราหลายเท่าตัว
มุมมองทิวทัศน์จากบน Galata Tower
แล้วประสพการณ์สุดประทับใจก็เกิดขึ้นกับพวกเราจนได้ เมื่อมีรถทัวร์อีกคันขนาบข้างเข้ามาเพื่อจะเบียดแทรก แต่พี่คนขับรถคันของพวกเราไม่ยอมครับ เบียดกันไปเบียดกันมาจนสุดท้ายชนกันเข้าโครมใหญ่ นักท่องเที่ยวทั้งชั้นบนชั้นล่างกระเด็นกระดอนกันอกสั่นขวัญแขวน ตอนแรกยังนึกว่าจะต้องมีการจอดรถวางมวยกันเสียแล้วซะอีก แต่คงเพราะต่างฝ่ายต่างเป็นพนักงานขับรถด้วยกันทั้งคู่ คิดไปคิดมาคงจะไม่อยากให้มีเรื่องเดือดร้อนไปมากกว่านี้ พอถึงทางกว้างพี่แกเลยทำเป็นขับรถคุมเชิงมองหน้ากันซักพัก แล้วก็ขับแยกย้ายกันไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหลือไว้แต่หัวใจอันเต้นระรัวของนักท่องเที่ยวหัวเหลืองหัวดำสิบกว่าคนบนรถเท่านั้น
บ้านเรือนที่ตั้งอยู่แออัดบนเนินเขาสลับซับซ้อน
รถพาเราแล่นอ้อมเมืองมาไกลจนออกนอกเขตเมืองเก่า ผ่านสะพานส่งน้ำโรมัน แล้วก็แนวกำแพงเมืองสูงตระหง่าน หลังจากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูอีกเลยครับ หลาย ๆ จุดเป็นจุดจอดรถตามแผนที่ แต่พอเพ่งตาดูแล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรน่าสนใจ จนสุดท้ายสารถีของเราก็เลยขับผ่านไปเสียเฉย ๆ ซึ่งพวกเราก็อยากให้เขาทำอย่างนั้นเช่นกันครับ และแล้วรถก็พาเราแล่นเลาะวกกลับเข้ามาสู่การจราจรอันแสนติดขัดอีกครั้ง กว่าจะค่อย ๆ กระเถิบกลับมายังจุดเริ่มได้ ก็เล่นเอาพวกเรานั่งรถกันจนเพลียไปเลยหล่ะครับ
เสาค้ำยันเพดานในอ่างเก็บน้ำใต้ดิน
ยังมีสถานที่น่าสนใจบริเวณนี้อีกที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาด นั่นก็คือแทงค์น้ำใต้ดินจากยุคไบแซนไทน์ชื่อ Yerebatan Sarneci เป็นสถานที่ลึกลับและหายากอยู่ซักหน่อย เพราะที่ตั้งของมันอยู่ใต้ดินครับ แถมทางเข้ายังเป็นอาคารชั้นเดียวเล็ก ๆ ตั้งอยู่ริมถนน อยู่ปะปนกันไปกับตึกแถวหน้าวิหารอาเกีย โซเฟีย ต่อเมื่อเดินผ่านทางเข้าลงไปเบื้องล่างเท่านั้นแหล่ะครับ รับรองว่าต้องตกตะลึงตาค้างกับสิ่งที่จะได้เห็นเลยทีเดียว
ทางเดินยาวไกลที่เปียกลื่นในบางจุด
ด้วยขนาดกว้าง 65 เมตร ยาว 143 เมตร สิ่งที่ทำให้ที่นี่ดูแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ก็คือขนาดอันใหญ่โตและเสาหินนับร้อยนับพันของมัน เสาค้ำยันเพดานแต่ละต้นตั้งแช่น้ำอยู่ในห้องโถงใหญ่อันเวิ้งว้างดำมืด มีการตามไฟประดับประดาให้ดูสลัว ๆ พร้อมทั้งเปิดเพลงประกอบในโทนเสียงเยือกเย็นน่าขนลุก แถมเขายังอุตส่าห์เลี้ยงปลาคาล์ฟอีกหลายสิบตัวในอ่างน้ำมืด ๆ นั่นด้วยสิครับ เลยยิ่งทำให้บรรยากาศมันดูพิลึกพิลั่นขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
มีเสาหินค้ำยันเพดานอยู่ทั้งหมด 336 ต้น แต่ละต้นถูกนำมาจากซากโบราณสถานของกรีกจากหลาย ๆ ที่รวมกัน แต่มีเสาอยู่ 2-3 ต้นที่แปลกและชวนให้บรรยากาศมันน่าขนลุกขึ้นไปอีก นั่นก็คือเสารูปหยาดน้ำตาจากยุคออตโตมัน ที่ดูยังไง ๆ ก็เหมือนเสาที่เต็มไปด้วยปุ่มปมสยดสยอง แล้วก็เสาของนางเมดูซ่าที่เขาแกะสลักหัวของนางไว้ตรงส่วนฐาน โดยตั้งกลับหัวบ้าง ตั้งตะแคงบ้าง ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อที่ว่าถ้าใครได้จ้องตากับนางตรง ๆ จะถูกสาปให้เป็นหินนั่นเองครับ ดังนั้นเขาจึงต้องทำให้เอียง ๆ เข้าไว้เพื่อหลีกเลี่ยงคำสาปของนาง
เสาของนางเมดูซ่า อยู่ด้านในสุดของอ่างเก็บน้ำใต้ดินแห่งนี้
น่าเสียดายที่พวกเรามาเจออ่างเก็บน้ำนี้ก็เมื่อใกล้ถึงเวลาปิดทำการแล้ว แต่ในข้อเสียก็มีข้อดีอยู่บ้าง ตรงที่นักท่องเที่ยวไม่วุ่นวายพลุกพล่าน ยังมีข้อควรระวังอยู่นิดหน่อยเรื่องทางเดินที่เปียกลื่นเป็นบางช่วง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะหยดน้ำจากเพดานซึ่งไม่รู้ว่ารั่วมาจากท่ออะไรบ้าง ทางที่ดีก็ควรระวังทั้งหัวทั้งเท้าเอาไว้ให้ดีนะครับ
ค่ำนี้เลยจบลงด้วยการเดินหาอะไรทานกันแถวที่พัก ระหว่างทางไปเจอเด็กผู้ชายอีกคนหนึ่ง แกใส่เสื้อยืดแขนสั้นบาง ๆ นั่งอยู่ข้างทางพร้อมห่อกระดาษทิชชู่ห่อเล็ก ๆ ข้างกาย แกนั่งทำท่าทางหนาวสั่นเหมือนเด็กอีกคนที่เห็นเมื่อคืนเป๊ะ แต่ดูยังไง ๆ ก็ไม่ใช่เด็กคนเดียวกันแน่ ๆ ครับ เลยเดาเอาว่าพวกนี้เขาคงจะผ่านการเทรนด์จากสถาบันเดียวกันมา เห็นแล้วทำให้นึกถึงนิทานเรื่องหนูน้อยขายไม้ขีดแล้วพลอยน้ำตาจะไหล
พูดถึงลูกอ้อนเรียกคะแนนสงสารเพื่อขอเงินจากนักท่องเที่ยวของที่นี่แล้ว เท่าทีผ่านตามาเห็นมีอยู่สามแบบครับ แบบแรกก็คือเด็กผู้ชายนั่งหนาวริมถนนกับห่อทิชชู่ดังที่เล่ามาแต่ต้น อย่างที่สองคือแม่เอาลูกมานอนหลับโชว์อยู่ริมถนน แล้วตัวเองก็นั่งเฝ้าทำท่าทางให้ดูน่าเวทนาเข้าไว้ แต่วิธีนี้ดูไม่เนียนเท่าไหร่ครับ แถมยังจะดูน่าตกใจอยู่สักหน่อย เพราะลูกของเธอคนนี้โตเกินกว่าจะให้มาแกล้งทำเป็นนอนหลับไร้เดียงสาในคืนหนาว ๆ อย่างนี้แล้วสิครับ หนำซ้ำคุณแม่ยังเอาผ้าผืนบาง ๆ มาห่อลูกเอาไว้เสียมิดชิด โดยโผล่ออกมาให้เห็นแค่หน้าอย่างกับมัดตราสังข์เสียอีก
แรกเห็นทำเอาพวกเราตกใจกันใหญ่เลยหล่ะครับ นึกว่าลูกเธอเป็นอะไรไปหรือเปล่า แต่ความสงสัยก็ถูกเก็บเอาไว้ไม่ได้นานนัก เมื่อเรากลับมาแถวนี้อีกในวันรุ่งขึ้น แล้วเห็นยัยเด็กผู้หญิงคนเดิมวิ่งเล่นกับเพื่อนปร๋อ
ส่วนแบบที่สามค่อยดูลงทุนขึ้นมาหน่อย นั่นคือเด็กชายหญิงอายุน่าจะประมาณปลายประถมหรือมัธยมต้น แต่ละคนแต่งตัวเรียบร้อยสะอาดสะอ้านเหมือนพึ่งเลิกเรียนมา น้องเขาจะมานั่งเป่าเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ยชนิดหนึ่งอยู่ริมทาง เป่าเพลงเดิมซ้ำ ๆ วกไปวนมาเหมือนพึ่งหัดเล่นอยู่อย่างนั้น ให้ลองทายดูสิครับว่ากลุ่มไหนจะได้ใจได้เงินจากพวกเรา
ใช่แล้วครับ แบบที่สามเพราะดูลงทุนที่สุด แต่ก็ยังอดติไม่ได้ครับว่าแต่ละคนยังเด็กอยู่เลย แถมยังเลือกมานั่งเป่ากันในที่มืด ๆ เปลี่ยว ๆ เสียอีก ส่วนเพลงก็เป็นเพลงเดียวกันซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้ต้นรู้ปลาย จะให้ดีแต่ละคนควรเลือกเพลงให้แตกต่างหลากหลายกว่านี้ครับ จะได้ดูเป็นธรรมชาติหน่อยไม่เหมือนถูกใครเทรนด์มายกแกงค์แบบนี้
เข้าวันที่สามเป็นคิวของการล่องเรือท่องช่องแคบบอสฟอรัส มีท่าเทียบเรือหลายเจ้าอยู่บริเวณเชิงสะพาน Galata (สะพานหลักหน้าตลาดเครื่องเทศ) เรือที่จอดเทียบมีหลายขนาดหลายราคา ส่วนพวกเราเลือกเรือลำใหญ่เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัยและตัดปัญหาเรื่องการเมาเรือ อีกอย่างที่สำคัญมากคือเลือกจากเส้นทางเดินเรือครับ ด้วยความละโมภเลยเลือกอันที่ไปไกลสุด ใช้เวลาเดินเรือนานสุดเพื่อจะได้คุ้มค่าคุ้มเวลานั่นเอง
เรือที่พาเราท่องช่องแคบบอสฟอรัส
ค่าโดยสารไป-กลับตกอยู่ที่คนละ 25 ลีลาร์ ใช้เวลาเดินทางไป-กลับหลายชั่วโมง ซึ่งถ้าคุณมีโปรแกรมจะไปไหนกันต่อภายในวันนี้ ควรเลือกทริปที่สั้นกว่านี้นะครับ เรือแวะจอดตามท่าหลายจุดแต่ว่าวิ่งวันละแค่สองเที่ยว ดังนั้นเรื่องที่จะลงเที่ยวตามท่าแล้วกลับมาขึ้นเรือใหม่นั้นลืมไปได้เลยครับ ลงหน่ะลงได้ครับแต่กว่าจะมีเรือมารับก็ต้องรออีกเป็นครึ่งวัน แถมยังจะทำให้เสียโอกาสในการนั่งเรือชมวิวไปจนสุดสายเสียอีกครับ
อย่างที่ทราบกันดีว่าอิสตันบูลเป็นเมืองเดียวในโลกที่ตั้งอยู่บนสองทวีป คือฝั่งหนึ่งอยู่บนทวีปเอเชียส่วนอีกฝั่งอยู่บนทวีปยุโรป โดยมีทะเลหรือช่องแคบบอสฟอรัสนี่แหล่ะครับ ที่เป็นตัวคั่นกลางระหว่างหนึ่งเมืองสองทวีปเอาไว้ แล้วเรือก็พาเราแล่นเลาะช่องแคบ ผ่านพระราชวังโดลมาบาเช่และสะพานข้ามทวีปอีกสองสะพาน ผ่านป้อมเก่าแก่สมัยออตโตมันที่จังก้าขนาบสองฝั่งของช่องแคบ การเดินเรือกินเวลาเกือบชั่วโมงจนมาสุดทางเอาที่หมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง
สะพานข้ามช่องแคบบอสฟอรัสหนึ่งในสองแห่งที่เรือแล่นผ่าน
ป้อมโบราณที่สร้างขนาบสองฝั่งของช่องแคบเอาไว้
หลังจากทานอาหารแล้วยังเหลือเวลาอีกร่วมสองชั่วโมงกว่า เราเลยพากันไปเดินเล่นในหมู่บ้านที่ทั้งเล็ก เงียบสงบ และไม่มีอะไรน่าสนใจเลย ดูเหมือนว่าเขาตั้งใจจะเอานักท่องเที่ยวมาปล่อยตรงนี้เพื่อขายอาหารอย่างเดียวเสียมากกว่า มิน่าเล่าถึงว่าแค่ล่องเรือทำไมถึงได้ใช้เวลานานนัก ที่แท้ก็เพื่อการณ์นี้นี่เอง
หลังจากเดินกลับไปกลับมาไม่รู้จะไปไหน สุดท้ายเลยต้องยอมจำนนกลับไปนั่งดื่มกาแฟทานของว่างกันแก้เซ็งต่อ แต่ไหน ๆ เมื่อจะต้องเสียเงินแล้วก็ขอเอาให้คุ้มเลยแล้วกันครับ พวกเราเลือกนั่งร้านที่ปล่อย wireless ให้เล่นฟรี แล้วก็เลยนั่งแช่มันอย่างนั้นจนถึงเวลาเรือออกจึงค่อยกลับมาขึ้นเรือ โดยพวกเราตั้งใจไว้แล้วว่ายังไงก็จะต้องลงแวะเที่ยวที่พระราชวังโดลมาบาเช่ให้ได้
แต่ด้วยความที่เสียเวลาไปบนเรือทั้งวัน เมื่อมาถึงพระราชวังก็เลยเวลาเปิดทำการของเขาไปแล้ว น่าเสียดายจริง ๆ ถ้ารู้ว่าจะต้องเสียเวลาไปมากมายขนาดนี้ เราน่าจะเลือกทริปที่สั้นกว่า ที่ทั้งประหยัดเวลาและเบาเงินในกระเป๋ากว่านี้
ประตูพระราชวังโดลมาบาเช่
พระราชวังโดลมาบาเช่เมื่อมองจากบนเรือขณะแล่นผ่าน
เมื่อพลาดหวังจากพระราชวังพวกเราเลยชวนกันเดินกลับ เพราะถึงอยากจะนั่งเรือก็ไม่มีเรือให้นั่งอีกแล้ว มองจากพระราชวังมาเห็นสะพาน Galata อยู่ไม่ไกลนัก แต่เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นว่ายิ่งเดินยิ่งไกลเข้าไปใหญ่ พวกเราเดินเลาะริมชายฝั่งเห็นมีร้านตกแต่งคล้ายผับบาร์อยู่หลายแห่ง แต่ผับบาร์ที่นี่เขาไม่เสิร์ฟแอลกอร์ฮอล์หรอกนะครับ มองเข้าไปเห็นมีแต่คนนั้งล้อมวงกันสูบบาลาขุ (บ้องยาสูบของทางตะวันออกกลาง) เห็นเขาบอกว่าทำมาจากพวกผลไม้แห้ง ดังนั้นจึงไม่ใช่นิโคตินที่ทำลายสุขภาพ แต่แอบสังเกตหลายคนพอสูบแล้วทำท่าเคลิ้มเหมือนจะเมา ดูท่าg-kคงจะเมาก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่สูบเข้าไปนั่นเองครับ
หอบังของมัสยิสถ์ Suleymaniye มีทั้งหมด 4 หอ
แล้วก็ดั้นด้นกลับมาถึงฝั่งเมืองเก่าจนได้ ฤดูนี้กว่าฟ้าจะมืดจริง ๆ ก็ปาเข้าไปสามทุ่มกว่า ยังมีมัสยิสถ์สวยอีกสองแห่งบริเวณนี้ ที่พวกเราได้แต่เดินผ่านไป-มาได้หลายวันแล้ว หนึ่งก็คือมัสยิสถ์ Yeni ที่อยู่เชิงสะพานหน้าตลาดเครื่องเทศ และอีกหนึ่งที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนเนินสูงขึ้นไปคือมัสยิสถ์ Suleymaniye
ที่อิสตันบูลนี่เราจะพบเห็นมัสยิสถ์ใหญ่โต ที่มีรูปทรงคล้ายกันกับมัสยิสถ์สีฟ้าอยู่มากมายเกลื่อนเมืองไปหมด ดังนั้นผมจึงขอบอกผ่านมัสยิสถ์ Yeni แล้วปล่อยให้เพื่อน ๆ เข้าไป ส่วนตัวเองอาสานั่งเฝ้าของรออยู่ด้านนอก ทั้งนี้ก็เพื่อเก็บแรงไว้เดินขึ้นมัสยิสถ์ Suleymaniye ซึ่งดูโอ่อ่าใหญ่โตน่าสนใจกว่านั่นเอง
เขาบอกว่าถ้าจะดูว่ามัสยิสถ์ไหนมีความสำคัญหรือใหญ่กว่าอย่างไร ให้ดูจากจำนวนหอบังหรือหอสวดได้เลยครับ หอบังหรือ Minaret คือหอคอยสูงที่สร้างอยู่ตามมุมกำแพงมัสยิสถ์นั่นเองครับ ในสมัยก่อนเขาเอาไว้ให้อิหม่ามหรือนักบวช ขึ้นไปป้องปากสวดมนต์ส่งสัญญาณเรียกคนมาทำละหมาด อย่างมัสยิสถ์สีฟ้าของสุลต่านอาห์เมตมีหอบังถึงหกหอด้วยกัน มัสยิสถ์Suleymainye มีสี่หอ ในขณะที่มัสยิสถ์ Yeni มีแค่สองหอ
การประดับประดาตกแต่งภายในมัสยิสถ์ Isleymaniye
หลังจากชมมัสยิสถ์ Suleymaniye เสร็จแล้ว เราก็พากันเดินต่อไปยังสะพานส่งน้ำโรมันโบราณซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน ซึ่งเมื่อดูจากป้ายบอกทางและแผนที่ก็จะเหมือนไม่ไกลกันมากนัก แต่เอาไปเอามาพวกเราก็หลงทางอีกจนได้ เล่นเอาเพื่อนคนหนึ่งในคณะเราไข้ขึ้นจนเดินต่อไม่ไหว และตอนนี้จะให้เดินกลับก็คงต้องหามกันไปแน่ ๆ เมื่อเห็นว่าป่วยจนไม่ไหวจริง ๆ พวกเราเลยต้องจำใจเรียกใช้บริการแท็คซี่กันอย่างไม่เต็มใจนัก
คนขับแท็คซี่ท่าทางมือใหม่ พี่แกพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยแม้แต่คำเดียว แถมไม่พอเขายังทำท่าเหมือนไม่รู้จักที่ที่เราจะไปเสียอีก (ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสถานที่ที่อุดมไปด้วยไอคอนหลักของเมืองแท้ ๆ) แต่สุดท้ายพวกเราก็หลงขึ้นมานั่งบนรถเขาจนได้ แล้วพ่อคุณก็พานั่งรถวนอ้อมออกมานอกเขตกำแพงเมืองเสียไกลโข ไม่รู้ว่าเหมือนแท็คซี่กรุงเทพฯหรือเปล่านะครับที่ชอบบังคับให้เราขึ้นทางด่วน แต่ในเมื่อเมืองนี้ไม่มีทางด่วนเขาเลยพาไปวิ่งเส้นอ้อมเมืองแทน
สะพานส่งน้ำโรมัน
แล้วใช่ว่าเส้นอ้อมเมืองรถจะไม่ติดนะครับ ติดยาวกว่าหรือนานกว่าด้วย แต่ท่าทางพ่อคนขับก็ช่างใจเย็นไม่ได้เร่งร้อนอะไรเลย แถมยังเปิดเพลงแดนซ์สไตล์แขกคอยกล่อมเราให้เย็นใจลงเสียอีก แต่ทว่าจังหว่ะการเต้นกะพริบของตัวเลขบนจอมิเตอร์กลับไม่เป็นอย่างนั้นหน่ะสิครับ
อย่างที่เคยบอกไปว่ามารยาทบนท้องถนนของคนที่นี่แย่มาก แย่จนไม่รู้จะเอาไปเปรียบกับบ้านเมืองของเราได้หรือเปล่า ไม่ว่าเขียวว่าแดงพวกไม่ยอมเปิดโอกาสให้อีกฝั่งได้มีโอกาสไปเลยครับ ทุกคนทุกคันคิดอยู่อย่างเดียวว่าต้องไปให้ได้เท่านั้น หลังจากติดคาอยู่ตรงทางแยกนานร่วมชั่วโมง เมื่อถึงโอกาสของเรามั่งผมจึงอดสะใจไม่ได้ ที่อีตาคนขับพาแหกไฟแดงปาดหน้าคันอื่นจนพ้นออกมาในที่สุด
เช้าวันสุดท้ายได้เวลากล่าวลากันเสียที ลางร้ายเกิดขึ้นแต่หัววันตั้งแต่ย่างเท้าก้าวแรกเข้าสู่สนามบิน เนื่องจากเพื่อนคนเดิมยังไม่หายป่วย ผมเลยอาสาช่วยถือกระเป๋าเข้าด่านตรวจจับอาวุธและโลหะให้ ด้วยข้าวของพะรุงพะรังหลายอย่างเลยทำให้เก็บของออกมาไม่หมด มารู้สึกตัวอีกทีว่าแขนมันโล่ง ๆ เพราะลืมเก็บนาฬิกาข้อมือมาด้วยก็เมื่อพ้นออกมาไกลแล้ว ผมจึงรีบวิ่งหน้าตั้งกลับไปเอา โชคดีที่ไม่มีใครหยิบไปเสียก่อน แต่กระนั้นกว่าเขาจะยอมคืนให้ก็ต้องสอบถามประวัติกันยืดยาวทีเดียว
การเข้าแถวเช็คอินที่นี่(สนามบินอตาร์เติร์ก)ล่าช้าที่สุดเท่าที่เคยพบเจอมา นอกจากแถวจะยาวเหยียดแล้ว คุณลุงคุณป้าชาวเติร์กยังขนของมาเย๊อะอย่างกับจะย้ายบ้าน แต่ละคนเข็นรถที่กองสุมไปด้วยกระเป๋าเดินทางหลากขนาดหลายใบ จนน่ากลัวว่าเครื่องจะบินไม่ขึ้นเพราะบรรทุกน้ำหนักเกิน โชคดีที่มีระฆังช่วยพวกเราเสียก่อน
มีคนมาเรียกผู้โดยสารที่จะไปยังเมืองเนเปิลส์(ซึ่งก็คือพวกเรานั่นเอง) ให้แยกออกจากแถวมาเช็คอินต่างหากอีกช่องหนึ่ง ทำให้รู้สึกโล่งใจเหมือนตอนผ่านสี่แยกไฟแดงเมื่อวันก่อน พอยิ่งนึกย้อนไปถึงก่อนวันมา ที่เขา(สายการบิน)โทรหาแล้วก็ยิ่งปลื้มเข้าไปใหญ่
หลังจากเช็คอินและได้ตั๋วมาเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ต้องมาผ่านด่านตรวจคนออก แล้วก็ต้องรื้อกระเป๋า รองเท้าและเข็มขัดเพื่อเช็คเรื่องความปลอดภัยกันอีกรอบ เสร็จแล้วจึงพากันวิ่งไปยังทางออกขึ้นเครื่องตามที่เขาแจ้งในตั๋ว เห็นว่าประตูกำลังจะปิดเลยรีบวิ่งถลาเข้าไป
"This is not Turkish Airline" ยัยคนเฝ้าประตูทางออกบอกเราแค่นี้แล้วก็ไม่พูดอะไรต่ออีก เลยทำให้พวกเราไม่นึกเฉลียวใจเลยแม้แต่น้อยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะยังเหลือเวลาอีกตั้งเกือบชั่วโมงกว่าเครื่องจะออก นึกว่าพอไฟลต์นี้ออกไปก็คงเป็นไฟลต์ของพวกเราต่อ เลยพานั่งจ่อมรออยู่ตรงหน้าเคาท์เตอร์นั่นเอง ส่วนยัยคนเฝ้าก็คุยกันโขมงโฉงเฉงกับเพื่อนโดยไม่สนใจอะไรพวกเราอีก
พวกเรายังคงใจเย็นนั่งรออยู่ตรงนั้นโดยไม่เฉลียวใจเลยแม้แต่น้อย ว่าเขามีการเปลี่ยนแปลงประตูทางออกขึ้นเครื่องไปประตูอื่น อีกทั้งยัยคนเฝ้าก็ไม่เห็นบอกกล่าวอะไร จนเมื่อใกล้เวลาเครื่องออกจริง ๆ จึงเดินถือตั๋วเข้าไปจะถามหล่อน ยังไม่ทันได้อ้าปากถามเลยครับ หนึ่งในนั้นก็รีบตัดบทตอบมาอย่างเสียไม่ได้ว่า "NO NO ! Sorry!!!"
เอาหล่ะสิครับทีนี้ "Sorry for what" ผมสวนกลับไปแค่นี้แล้วก็รีบเดินกลับออกมา ใจคอตอนนี้เริ่มเต้นตุ้ม ๆ ต่อม ๆ แล้ว พอเดินออกมาถามเคาท์เตอร์ข้างนอกถึงได้รู้ว่าเครื่องพึ่งจะบินออกไป มีการเปลี่ยนแปลงประตูทางออกขึ้นเครื่องกระทันหัน พวกเราไม่ได้ยินแม้เสียงประกาศเรียกหรือการขึ้นป้ายบอกกล่าวใด ๆ ที่สำคัญยัยพนักงานเฝ้าประตูก็ไม่มีแก่ใจแม้แต่น้อยที่จะบอกให้เรารู้ วินาทีนั้นผมโกรธจนตัวสั่นเลยหล่ะครับ เดินถือตั๋วที่ตอนนี้เป็นแค่เพียงเศษกระดาษเปล่า กลับไปที่เคาท์เตอร์หมายจะด่ากราดไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหมกันเลย
"ฉันตกเครื่อง เครื่องบินไปแล้ว คอยดูนะฉันจะรายงานพวกเธอ"
ได้แค่นี้แหล่ะครับคำด่า มันนึกอะไรไม่ออกจริง ๆ หนึ่งเพราะต้องด่าเป็นภาษาอังกฤษ สองเพราะโกรธจนคิดอะไรไม่ออก พอพูดเสร็จก็เดินสะบัดออกมา โดยไม่สนใจว่าใครจะเข้าใจหรือเปล่า ป่วยการจะเป็นเรื่องเป็นราวครับ ยังไงก็ต้องไปกันต่อ แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้เล่าต่อไม่ไหวแล้ว นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาทีไรมันรู้สึกจี๊ด ๆ
วิบากกรรมของเรายังพึ่งเริ่มครับ ยังมีเรื่องให้ลำบากลำบนกันอีกหลายตลบ แต่บทนี้ขอพอแค่นี้ก่อน แล้วค่อยมาดูกันต่อนะครับว่าเรายังจะเจอเรื่องร้าย ๆ อะไรอีกบ้าง สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ